ท่านสมาชิกและผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน
วารสารฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2 ของปีที่ 19 ประกอบไปด้วยบทความทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์หลากหลายสาขา ด้านการเรียนการสอนภาษาในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเรียนภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ปัญหาการใช้วลีต่างระดับภาษาจีนของนิสิตหลักสูตรภาษาจีนมหาวิทยาลัยทักษิณ และ ปัญหาและข้อผิดพลาดในการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ การพัฒนารูปแบบการอ่านภาษาอังกฤษแบบเน้นภาระงานร่วมกับการจัดกิจกรรมออนไลน์เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ความคิดเห็นของผู้สอนและผู้เรียนที่มีต่อหนังสือเรียนภาษาเกาหลีขั้นพื้นฐานระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย: กรณีศึกษาไวยากรณ์ภาษาเกาหลี และ ผู้เข้าสอบคิดอย่างไรขณะทำข้อสอบแบบเติมคำ: รูปแบบกระบวนการรู้คิดในการอ่าน
ด้านดนตรีและศิลปะการแสดง ได้แก่ ประวัติเพลงเหลียว ในเมืองผิงกั๋ว มณฑลกวางสี ประเทศจีน ความเหมือนและความแตกต่างของศิลปะการแสดงหมอลำกลอนของไทยและหมอลันของจีน ด้านภาษาศาสตร์ ได้แก่ หลักความร่วมมือในการสนทนาในสถานการณ์เกี้ยวพาราสีของผญาเกี้ยวอีสาน นอกจากนี้ยังมีบทความวิชาการเรื่อง ภาพรวมการศึกษาบทบาทของตัวบ่งชี้ทางภาษาในการประเมินภาวะซึมเศร้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ด้านภาษาเข้ากับศาสตร์อื่น
องค์ความรู้ต่างๆ ที่ปรากฏในบทความทางวิชาการเหล่านี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ไม่มากก็น้อย คณะผู้จัดทำวารสารฯ ขอขอบคุณท่านผู้เขียนและท่านผู้อ่านที่ได้ให้การสนับสนุนวารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรมาโดยตลอด ท้ายนี้คณะผู้จัดทำวารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยินดีรับข้อเสนอแนะหรือข้อติชมในการดำเนินงานจากท่านผู้อ่าน โดยสามารถติดต่อวารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทางระบบ ThaiJo หรือที่อีเมล humanjournal@hotmail.com
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชมนาด อินทจามรรักษ์
บรรณาธิการ
เผยแพร่แล้ว: 2022-08-31