ท่านสมาชิกและผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน
กว่า 16 ปีที่วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาษา วรรณคดี คติชน ดนตรี และนาฏศิลป์ ในปีนี้ นับเป็นโอกาสดีที่เปิดให้ผู้สนใจด้านปรัชญาและศาสนาได้นำบทความลงตีพิมพ์ในวารสารฯ ด้วย เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งสาขาทางมนุษยศาสตร์ที่มีผู้ให้ความสนใจ
วารสารฉบับนี้รวบรวมบทความทางวิชาการหลากหลายสาขาวิชา ประกอบไปด้วย ด้านการเรียนการสอนภาษา ได้แก่ An Analysis of Syntactic Complexity Used In Essay Writing Produced by EFL Writers และการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวมนุษยนิยม ด้านคติชนวิทยา ได้แก่ ฤๅษีในอินเดียโบราณ: ศึกษา “ความเป็นนักบวช” ของฤๅษี และ การศึกษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ด้านภาษาและวรรณคดี ได้แก่ การศึกษาเปรียบเทียบกลวิธีการเล่าเรื่องระหว่างพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรกับนิทานซาดก ท้าวมะหาซะนก ฉบับลาว และคำคล้ายในภาษาไทย : การวิเคราะห์รูปคำและความหมาย รวมถึงด้านดนตรี คือ เทคนิคแซกโซโฟนจากโซนาตาของ ฟิล วูดส์
นอกจากนี้ยังเสนอบทแนะนำและวิจารณ์หนังสือ “ทัศนะทางการเมือง” ของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์” โดย ชยโชติ กมลวิจิตร และดร.สุริยะ หาญพิชัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ซึ่งเป็นหนังสือที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาทางการเมืองที่นำเอาแนวคิดพุทธศาสนามาผนวกเข้ากันได้อย่างกลมกลืน
คณะผู้จัดทำวารสารฯ ขอขอบคุณผู้เขียนทุกท่านที่ไว้วางใจส่งบทความลงตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อีกทั้งขอขอบคุณสมาชิกและผู้อ่านที่ให้ความสนใจวารสารฯ เสมอมา หากท่านมีคำติชมหรือข้อเสนอแนะใดๆ คณะผู้จัดทำยินดีน้อมรับและปรับปรุงเพื่อให้วารสารฯ ได้ก้าวเข้าสู่ ปีที่ 17 อย่างมีมาตรฐานดียิ่งขึ้นไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชมนาด อินทจามรรักษ์
บรรณาธิการ
เผยแพร่แล้ว: 2020-01-08