การพัฒนาสื่อความจริงเสมือนเพื่อชุบชีวิตภาพสลักทับหลัง ในปราสาทหินพนมรุ้ง

Main Article Content

จิรายุฑ ประเสริฐศรี
ประภาส ไชยเขตร

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การพัฒนาสื่อความจริงเสมือนเพื่อชุบชีวิตภาพสลักทับหลังในปราสาทหินพนมรุ้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ถอดรหัสลวดลายของภาพสลักทับหลังปราสาทหินพนมรุ้ง
2) ออกแบบและพัฒนาสื่อความจริงเสมือนให้ผสานเข้ากับภาพสลักทับหลังปราสาทหินพนมรุ้ง
และ 3) ศึกษาความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างหลังการใช้สื่อความจริงเสมือน การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยแบบผสมผสาน โดยเริ่มต้นจากการวิจัยเชิงคุณภาพนำเข้าสู่การวิจัยเชิงการออกแบบ
            ผลการวิจัยพบว่า ปราสาทหินพนมรุ้งมีภาพสลักทับหลังรอบนอก จำนวนทั้งหมด 33 ชิ้น แบ่งเป็นทับหลังที่มีลวดลายภาพสลัก จำนวน 14 ชิ้น และไม่ปรากฏลวดลายภาพสลักใดๆ เลย จำนวน 19 ชิ้น ในการวิจัยครั้งนี้ได้มุ่งศึกษาวิเคราะห์ทับหลังหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อสภาพความชำรุดเสียหายที่มีรายละเอียดซับซ้อน ประกอบด้วย 11 ส่วน ได้แก่ 1) พระนารายณ์ 2) พระลักษมี 3) พระพรหม 4) พญาอนัตนาคราช 5) มกร 6) หน้ากาล 7) ครุฑยุดนาค 8) นกหัสดีลิงค์คาบช้าง 9) นกแก้วคู่ 10) ลิงอุ้มลูก และ 11) ลายก้านขด ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 ราย ร่วมตรวจสอบและปรับแก้ไขผลงานจนมีข้อสรุปในทิศทางเดียวกันว่า ผลงานที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นได้เผยให้เห็นถึงสภาพความสมบูรณ์ทางศิลปะที่แฝงอยู่ในทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ โดยมีความสอดคล้องกับภาพถ่ายและหลักฐานต่างๆ ที่มีการสำรวจสืบค้นไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จึงนำเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาสื่อความจริงเสมือนและนำไปใช้เผยแพร่แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมปราสาทหินพนมรุ้งด้วยวิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ จำนวน 40 ราย ให้ใช้งานสื่อความจริงเสมือนและตอบแบบประเมิน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด จึงบ่งชี้ได้ว่าสื่อความจริงเสมือนที่พัฒนาขึ้นนี้ช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นและเข้าใจสภาพความสมบูรณ์ของทับหลังก่อนการชำรุดเสียหาย และเพิ่มความแปลกใหม่ให้กับวิธีการศึกษาข้อมูลภาพสลักทับหลังในปราสาทหินพนมรุ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Article Details

บท
บทความวิจัย