โรงเรียนทางเลือกกับการพัฒนาชุมชน : กรณีศึกษาโรงเรียนมีชัยพัฒนา

Main Article Content

ธนากรณ์ ทำทอง
สมศักดิ์ สามัคคีธรรม

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มุ่งเน้นอธิบายถึงประเด็นการศึกษาทางเลือกกับการพัฒนาชุมชน เพื่ออธิบายถึงแนวคิดการพัฒนาชุมชนของผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนาและกระบวนการดำเนินงานพัฒนาร่วมกับชุมชน โดยการวิจัยนี้ผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาตามแนวทางของการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ศึกษาเฉพาะกรณี (Case Study Approach) ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษางานวิชาการ หนังสือ ตำรา วิทยานิพนธ์ บทความ ตลอดจนสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ (Social Media) และเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม (Field Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview Technique) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) โดยมีแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-structured interviews) และใช้วิธีการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (participant observation) เป็นเครื่องมือ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการจำแนกข้อมูลตามประเด็นและหัวข้อ วิเคราะห์ประเด็นของเนื้อหา ใช้รูปแบบการตีความ และจับประเด็นที่สำคัญของเนื้อหา เพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้องและความสอดคล้องกันของข้อมูล


ผลการวิจัยพบว่า 1) โรงเรียนมีชัยพัฒนาสามารถเปลี่ยนให้โรงเรียนเป็นมากกว่าสถานที่สอนนักเรียน ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนมีชัยได้กลายเป็นสถานที่อบรมให้ความรู้แก่คนในชุมชนตลอดจนเป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านการพัฒนาชุมชน 2) กระบวนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมีชัยพัฒนาที่เชื่อมโยงกับชุมชนและการพัฒนาชุมชนมีหัวใจสำคัญอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ (1) รากฐานวิธีคิดเกี่ยวกับการทำงานพัฒนาชุมชน และ (2) กระบวนการพัฒนาผู้เรียนและผู้สอนให้เป็นนักพัฒนาอเนกประสงค์ 3) กิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชน ใช้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกกระบวนการ ขั้นตอนที่ 1 คือขั้นตอนการทำความรู้จักกับชุมชน ขั้นตอนที่ 2 คือการทำแผนพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (CNA) ขั้นตอนที่ 3 คือขั้นตอนของการเขียนเสนอโครงการ (Proposal) ขั้นตอนที่ 4 คือขั้นตอนการประเมินผลการดำเนินโครงการ (BamBoo Ladder) 4) การพัฒนาชุมชน การเรียนการสอนของโรงเรียนมีชัยพัฒนามีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนโดยดำเนินงานผ่านโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ซึ่งกำลังดำเนินงานภายใต้โครงการ “การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้สำหรับผู้สูงอายุโดยร่วมกับนักเรียนและเยาวชน” ผู้สุงอายุและชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวสามารถเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวได้พอสมควร นอกจากนี้ยังสามารถผลิตอาหารปลอดภัยที่สามารถนำมาบริโภคภายในครอบครัวเพื่อช่วยในการลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย  

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

โกวิทย์ พวงงาม. (2562). การจัดการตนเองของชุมชนและท้องถิ่น. นนทบุรี: บริษัท ธรรมสาร จำกัด.

โรงเรียนมีชัยพัฒนา. (2564). โครงการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้สำหรับผู้สูงอายุโดยร่วมกับนักเรียนและเยาวชน. บุรีรัมย์: มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะและโรงเรียนมีชัยพัฒนา.

ประทุม อังกูรโรหิต. (2551). ปรัชญาปฏิบัตินิยม: รากฐานปรัชญาการศึกษาในสังคมประชาธิปไตย (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พรใจ ลี่ทองอินทร์. (2559). การศึกษาทางเลือก. สารานุกรม ศึกษาศาสตร์ (Encylopedia of Education), 51, 24-26.

ภควดี แสนหาญชัย, และ คณะ. (2563). การศึกษาการบริหารการศึกษาทางเลือกและการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแบบองค์รวมฐานวิชาหมอบ้านๆ โดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: กรณีศึกษาโฮมสคูล วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม จังหวัดเชียงใหม่. วารสารบัณฑิตศึกษา, 16(75), 41-45.

มีชัย วีระไวทยะ, และ อิสดอร์ เรโอด์. (2560). แนวคิดการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนมีชัยพัฒนา. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://www.trueplookpanya.com/blog/content/57377/-teaartedu-teaart-teagre--

อุทิศ สมใจ. (2555). การบริหารจัดการการศึกษาทางเลือกในสถานศึกษา จังหวัดขอนแก่น พหุกรณีศึกษา. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น.

อุบลวรรณ หงส์วิทยากร, และ คณะ. (2554). การศึกษารูปแบบการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการศึกษาทางเลือก. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, กรุงเทพฯ.

Dewey, J. (1938). Experience and Education. Toronto: Collier-MacMillan Canada Ltd.

The Potential by SCB. (2562). โรงเรียนไม้ไผ่ มีชัยพัฒนา: ทุกคาบคือทักษะชีวิต. Retrieved February 24 February 2022, from https://youtu.be/A3W4dFGoWJw?si=O4VwLaIYTI_i_hIO

William W. Biddle, และ Loureide J Biddle. (1965). The community development process : the rediscovery of local initiative. New York: Holt, Rinehart and Winston.