ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการประกันคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) Factors Affecting to Quality Assurance Success of Education Criteria for Performance Excellence (EdPEx)
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย คือ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการประกันคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรพยากรณ์กับความสำเร็จของการประกันคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) 3) เพื่อสร้างสมการทำนายของปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการประกันคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหรือ รองคณบดีระดับคณะ/วิทยาลัย หรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการประกันคุณภาพ ในปีการศึกษา 2564 จำนวนทั้งสิ้น 127 คน จากมหาวิทยาลัยใน 6 ภูมิภาค ๆ ละ 1 แห่ง รวมจำนวนทั้งสิ้น 6 มหาวิทยาลัย ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้วิเคราะห์ คือ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในตัวแปรพยากรณ์และตัวแปรพยากรณ์กับตัวแปรเกณฑ์ การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบปกติ
ผลการวิจัยค้นคว้า พบว่า
1) ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการประกันคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า วัฒนธรรมองค์กร มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมา คือ การบริหารจัดการและงบประมาณ และภาวะผู้นำและการกำหนดนโยบาย มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ตามลำดับ
2) สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในตัวแปรพยากรณ์ มีค่าอยู่ระหว่าง .466- .797 และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตัวแปรพยากรณ์กับตัวแปรเกณฑ์ พบว่า ภาวะผู้นำและการกำหนดนโยบาย (X1) การบริหารจัดการและงบประมาณ (X2) การมีส่วนร่วมและทัศนคติของบุคลากร (X3) ทรัพยากรและเทคโนโลยีในการดำเนินงานประกันคุณภาพ (X4) วัฒนธรรมองค์กร (X5) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกณฑ์ (X6) มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความสำเร็จของการประกันคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) (Y) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์เท่ากับ .822, .660, .856, .746, .671 และ .825 ตามลำดับ
3) การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบปกติ (Enter Multiple Regression Analysis) พบว่า ตัวแปรพยากรณ์ทั้ง 6 ตัว ส่งผลต่อความสำเร็จของการประกันคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ (R) เท่ากับ .929 และอำนาจในการพยากรณ์ร้อยละ 86.3 (R2 = .863) ความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของการพยากรณ์มีค่า 23.00180 ตัวแปรพยากรณ์ที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการประกันคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .05 มีจำนวน 4 ตัว ได้แก่ ภาวะผู้นำและการกำหนดนโยบาย (X1) การบริหารจัดการและงบประมาณ (X2) การมีส่วนร่วมและทัศนคติของบุคลากร (X3) และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกณฑ์ (X6) สามารถสร้างเป็นสมการพยากรณ์ความสำเร็จของการประกันคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) ในรูปคะแนนดิบและคะแนนมาตรฐาน ดังนี้
สมการพยากรณ์ในรูปคะแนนดิบ
Y = -285.872 + 40.015(X1) + 12.572(X2) + 37.081(X3) + 7.081(X6)
สมการพยากรณ์ในรูปคะแนนมาตรฐาน
Z = .274(X1) + .089(X2) + .268(X3) + .326(X6)
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
เนื่อหาและข้อมูลในบทความ เป็นความรับผิดชอบของผุ้แต่ง
บทความในวารสารเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิจัยและนวัตกรรมท้องถิ่น