บทบรรณาธิการ

ฉบับที่สามส่งท้ายปี 2564          สู่ฤกษ์ดีปีใหม่มา 2565

ให้โชคดีมีความสุขทุกเวลา         งานก้าวหน้าวิชาการทุกท่านเทอญ

All blessings are bestowed on you;

Your wishes come true;

Good health, wealth, and prosperity is achieved, too;

May you be joyful and happy in the auspicious New Year.

          “มนุษยสังคมสาร” เดินทางมาถึงฉบับส่งท้ายของปี พ.ศ.  2564 (กันยายน-ธันวาคม) แล้ว โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (ศูนย์ TCI)  ได้ปรับ “มนุษยสังคมสาร” และวารสารอื่น ๆ อีกราว 200 กว่าปก ให้อยู่ในวารสาร  กลุ่มที่ 2 ในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ทาง “มนุษยสังคมสาร” ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนหลายอย่างเพื่อให้วารสารมีคุณภาพทางวิชาการมากยิ่งขึ้นและให้เป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตั้งแต่ฉบับที่ 3 ปีที่ 18 (กันยายน-ธันวาคม) ทางวารสารได้กำหนดให้ผู้นิพนธ์ที่ส่งบทความมาตีพิมพ์เผยแพร่ใน “มนุษยสังคมสาร” จะต้องส่งผลการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงาน (Plagiarism) ด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ โดยร้อยละของดัชนีความซ้ำซอนของบทความต้องไม่เกินร้อยละ 15 ในฉบับที่ 2 ของปีที่ 19 (พฤษภาคม-สิงหาคม) ก็มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องจำนวนของผู้ทรงคุณวุฒิ (peer reviewer) ที่พิชญพิจารณ์บทความจากจำนวน 2 คน เป็นจำนวน 3 คน นอกจากนั้น ยังมีการปรับประเด็นข้อความจริยธรรมการตีพิมพ์ (Publication Ethics) ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และมีการเพิ่มแผนภูมิขั้นตอน (Flowchart) การตีพิมพ์บทความในมนุษยสังคมสารเพื่อให้เห็นขั้นตอนของการส่งบทความอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

ในรอบปี พ.ศ. 2564 ตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 3 มีบทความได้รับพิจารณาให้ตีพิมพ์ จำนวน 36 บทความ โดยฉบับที่ 1 มีจำนวน 12 บทความ ฉบับที่ 2 มีจำนวน 13  บทความ และ ฉบับที่ 3 นี้ มีจำนวน 11 บทความ ทุกบทความมีเนื้อหาอยู่ในกรอบของมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (plagiarism) ด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ โดยมีค่าเฉลี่ยของดัชนีความซ้ำซ้อนอยู่ระหว่างร้อยละ 0-11 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ไม่เกินร้อยละ 15 ของความซ้ำซ้อน อีกทั้งได้ผ่านการพิชญพิจารณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก (double-blind peer review) ตามมาตรฐานวิชาการ

“มนุษยสังคมสาร” ฉบับนี้ได้นำเสนอภาพปกที่สะท้อนถึงพิพิธภัณฑ์ในยุคประวัติศาสตร์ จากบทความชื่อ “พลวัตและบทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 3,000ปี วัดป่าพระสบาย ชุมชนสายตรี 7” ซึ่งทางกองบรรณาธิการได้ขออนุญาตจากผู้นิพนธ์บทความแล้ว

           กองบรรณาธิการ ขอขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่พิชญพิจารณ์บทความ (peer reviewer) และผู้นิพนธ์บทความ (author) จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงทุกส่วนฝ่ายที่ให้การสนับสนุนส่งเสริม “มนุษยสังคมสาร”   ด้วยดีมาตลอด ทางกองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักวิจัยและนักวิชาการจะให้ความไว้วางใจด้วยการส่งบทความไปร่วมเผยแพร่ใน “มนุษยสังคมสาร” ในฉบับต่อ ๆ ไป

                               รองศาสตราจารย์ ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม

                                                  บรรณาธิการ

เผยแพร่แล้ว: 31-12-2021

Structures of Spoken Academic Clusters in Ted Talks

ภาณุพันธ์ ปานทอง, วริษฐา รัตนวโรภาส

203-225