กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการประกอบการรื้อแยกซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ : กรณีศึกษาพื้นที่ตำบลแดงใหญ่และตำบลบ้านเป้า

Main Article Content

บัญชา นวนสาย

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษากระบวนการกระตุ้นให้ชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการประกอบการรื้อแยกซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งอย่างถูกหลักอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ประกอบอาชีพรื้อแยกซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ในตำบลแดงใหญ่ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จำนวน  33  คน และตำบลบ้านเป้า อำเภอพุทไธสง จำนวน 35 คน ที่สมัครใจเข้าร่วมการเก็บรวบรวมข้อมูล การศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้การสำรวจเชิงวิเคราะห์ (Analytical Survey Method) ร่วมกับการสังเกตพฤติกรรมและการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยเน้นการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) ผู้วิจัยใช้การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากการสังเกตและการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนและความสอดคล้องของเนื้อหาและข้อมูล และสรุปอธิบายเป็นภาพรวมของกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม    


          การวิจัยในครั้งนี้กำหนดช่วงเวลาระหว่างเดือนกันยายน 2563 - เมษายน 2564 ใช้ระยะเวลา 8 เดือนผลจากการวิจัยพบว่ากระบวนการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการประกอบการรื้อแยกซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งอย่างถูกหลักอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม 4 ขั้นตอน คือ


          1.ขั้นการสร้างการรับรู้และความตระหนักถึงพิษภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการประกอบการรื้อแยกซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่จะส่งผลกระทบต่อ สุขอนามัยของผู้ประกอบการรื้อแยก สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม


  1. การสร้างความเข้าใจและความตระหนักในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการประกอบการรื้อแยกซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้ง

  2. ขั้นการกระตุ้นและหนุนเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างแรงจูง และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยใช้กิจกรรมการนัดหมายพบปะพูดคุยเป็นเครื่องมือทางสังคมที่ใช้กระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านทีมปฏิบัติงานในพื้นที่เข้าสังเกต สอบถาม พูดคุย ตรวจเช็คพฤติกรรมการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ

          4.ขั้นตอนการกำกับและติดตามโดยภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยใช้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ที่ออกโดยหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อกำกับติดตามและกำหนดข้อตกลงในการร่วมกันบริหารจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชุมชน


คำสำคัญ : การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมควบคุมมลพิษ. (2558). ยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิง
บูรณาการ ปี พ.ศ. 2557-2564. กรุงเทพฯ: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
ทรรศนีย์ พฤกษาสิทธิ์ และคณะ (2563). การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้รื้อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่
สัมผัสโลหะหนักผ่านทางผิวหนัง ในจังหวัดบุรีรัมย์. ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 (2020): กรกฎาคม – ธันวาคม
2563.
ปภาดา ประมาณพล และคณะ . 2562. มาตรการทางกฎหมายเพื่อการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
และอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย. วารสารวิจัยรำไพพรรณี, 13 (2).
พีรนาฏ คิดดี และสุทธิพร บุญมาก. (2559). การขับเคลื่อนและอุปสรรคของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ใน
ประเทศไทย. วารสารวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, 8 (8).
วิษณุ สุมิตสวรรค์ จิราภรณ์ พลีบัตร์ และธาราทิพย์ ปิ่นจันทร์. (2563). แนวทางการพัฒนานวัตกรรมการ
จัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชนตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ .
วารสารการบริหารปกครอง (Governance Journal). 9 (2).
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย. (2557ก). ขยะอิเล็กทรอนิกส์ อำเภอฆ้องชัย
จังหวัดกาฬสินธุ์. จดหมายข่าว ศสอ, 6(3), 4.
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย. (2557ข). คู่มือการจัดการของเสียอันตรายจาก
ชุมชน. สืบค้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2564, จาก
http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER6/DRAWER079/GENERAL/DATA0002/00002280.PDF.
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย. (2563). โครงการพัฒนารูปแบบระบบ
การรวบรวม ขนส่ง และจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และของเสีย
อันตรายชุมชน. กรุงเทพมหานคร.
องค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่. (2563). เอกสารสำเนาบัญชีงานทะเบียนการขายทอดตลาดและค้าของ
เก่า.
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเป้า. (2563). เอกสารสำเนาบัญชีงานทะเบียนการขายทอดตลาดและค้าของ
เก่า.
อมร แตบไธสง. (2561). บทสัมภาษณ์รายการโลกใสไร้ขยะ ตอน ขยะอันตราย จ.บุรีรัมย์. ออกอากาศ วันที่ 22 สิงหาคม 2561.