รูปแบบที่เหมาะสมในการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร ของประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • ศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คำสำคัญ:

ระบบการควบคุมอาหารแห่งชาติ, ความปลอดภัยด้านอาหาร

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและรูปแบบที่เหมาะสมในระบบการบริหารจัดการ ความปลอดภัยด้านอาหารของไทย เปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยการค้นคว้าเชิงเอกสารประกอบการสัมภาษณ์เชิงลึก รวมถึงการอ้างอิงรับรองผลการศึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ (Connoisseurship) ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

  1. ระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหารและระบบตรวจสอบรับรองการนำเข้า-ส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถสนับสนุน และสนองตอบต่อการดำเนินการทางการค้า และการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดการประสานความร่วมมือในเชิงลึกระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การขับเคลื่อนการค้าสินค้าอาหารของประเทศไม่สามารถดำเนินไปได้โดยสะดวกและราบรื่น เกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
  2. การเปรียบเทียบระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ โดยใช้หลักการของระบบการควบคุมอาหารแห่งชาติ พบว่า สหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีระบบการบริหารจัดการเป็นแบบหลายหน่วยงาน (Multiple Agency System) เช่นเดียวกับประเทศไทย ขณะที่สหภาพยุโรปมีระบบการบริหารจัดการเป็นแบบบูรณาการ (Integrated Agency System) ทั้งนี้แต่ละประเทศต่างก็มีกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารเป็นการเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่ไม่มีกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารเป็นการเฉพาะ แต่ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 25 ฉบับเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ
  3. รูปแบบที่เหมาะสมในการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหารของไทย คือ การคงอำนาจ บทบาท หน้าที่ของหน่วยงานที่มีอยู่เดิม แต่ปรับปรุงระบบการตรวจสอบรับรองการนำเข้า-ส่งออกสินค้าอาหารให้มีลักษณะหน่วยงานเดียว (Multiple Agency System with Single Inspection Body) ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-19