การพัฒนาระบบการฝึกอบรมทางไกลอิงสมรรถนะด้านเทคนิคทางยุทธวิธีสำหรับหัวหน้างานป้องกันปราบปรามของสถานีตำรวจสังกัดตำรวจภูธรภาค 5

ผู้แต่ง

  • วีระวุธ ชัยชนะมงคล สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • สุมาลี สังข์ศรี สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • วีรพล กุลบุตร คณะตารวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตารวจ
  • สารีพันธุ์ ศุภวรรณ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

คำสำคัญ:

ระบบ, การฝึกอบรมทางไกลอิงสมรรถนะ, เทคนิคทางยุทธวิธี

บทคัดย่อ

                    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการระบบการฝึกอบรมทางไกลอิงสมรรถนะด้านเทคนิคทางยุทธวิธีสำหรับหัวหน้างานป้องกันปราบปรามของสถานีตำรวจสังกัดตำรวจภูธร  ภาค 5   2) พัฒนาระบบการฝึกอบรมทางไกลอิงสมรรถนะด้านเทคนิคทางยุทธวิธีสำหรับหัวหน้างานป้องกันปราบปรามของสถานีตำรวจสังกัดตำรวจภูธรภาค 5  และ 3) ทดลองใช้และประเมินผลการใช้ระบบการฝึกอบรมทางไกลอิงสมรรถนะด้านเทคนิคทางยุทธวิธีสำหรับหัวหน้างานป้องกันปราบปรามของสถานีตำรวจสังกัดตำรวจภูธรภาค 5

                การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาการฝึกอบรมและความต้องการระบบการฝึกอบรมทางไกลอิงสมรรถนะด้านเทคนิคทางยุทธวิธี กลุ่มตัวอย่าง คือ หัวหน้างานป้องกัน

ปราบปรามของสถานีตำรวจใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนจำนวน 300 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน   และเลือกแบบเจาะจงหัวหน้าหน่วยงานตำรวจจำนวน 20 คน  เครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามซึ่งมีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.8443 และ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และการวิเคราะห์เนื้อหา    ระยะที่ 2 พัฒนาระบบฯ  ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ  9 คน  เครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ ประเด็นการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา  จากนั้นนำข้อมูลภาคสนามมาสังเคราะห์ร่วมกับการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องสร้างเป็นระบบการฝึกอบรมทางไกล แล้วนำไปทดสอบประสิทธิภาพแบบ 1:1 และแบบ 1:10  และนำเสนอผู้เชี่ยวชาญ 5 คน เพื่อรับรองระบบฯ และ  ระยะที่ 3 ทดลองใช้ระบบ กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน  32 คน เครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ 1) ระบบการฝึกอบรมทางไกลฯ 2) แบบทดสอบสมรรถนะด้านเทคนิคทางยุทธวิธี  และ  3) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อระบบ  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที

                    ผลการวิจัยพบว่า  1) สภาพปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดการฝึกอบรมทางไกลอิงสมรรถนะด้านเทคนิคทางยุทธวิธีให้กับหัวหน้างานป้องกันปราบปรามของสถานีตำรวจ  ปัญหาหลักในการฝึกอบรม คือ การขาดการศึกษาความต้องการของผู้เข้ารับการฝึกอบรม  และหัวหน้างานป้องกันปราบปรามของสถานีตำรวจมีความต้องการให้มีระบบการฝึกอบรมทางไกลอิงสมรรถนะด้านเทคนิคทางยุทธวิธีในระดับมาก  2) ระบบการฝึกอบรมทางไกลฯ  ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย ระบบย่อย  7 ระบบ  คือ (1) ระบบพัฒนาหลักสูตร  (2) ระบบผลิตชุดฝึกอบรม  (3) ระบบจัดการการฝึก (4) ระบบดำเนินการฝึก (5) ระบบกำกับควบคุมการฝึก (6) ระบบบริการการฝึก  และ (7) ระบบประเมินผลการฝึก โดยมีองค์ประกอบ ด้านปัจจัยนำเข้าได้แก่  เนื้อหาหลักสูตรอิงสมรรถนะจากระบบพัฒนาหลักสูตร  ชุดฝึกอบรมแบบสื่อประสมจากระบบผลิตชุดฝึกอบรม ผู้จัดการฝึก ครูฝึก และผู้เข้ารับการฝึกจากระบบจัดการการฝึก และการให้ข้อมูลและอุปกรณ์การฝึกจากระบบบริการการฝึก ด้านกระบวนการได้แก่ การฝึกด้วยตนเองโดยใช้สื่อโสตทัศน์เป็นสื่อหลัก การฝึกผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ และการฝึกอบรมโดยครูฝึกจากระบบดำเนินการฝึก  และการกำกับควบคุมการฝึกอบรมโดยหัวหน้าสถานีตำรวจจากระบบกำกับควบคุมการฝึก และด้านผลลัพธ์ได้แก่  ผลการประเมินสมรรถนะจากระบบประเมินผลการฝึก และ 3) ผลการประเมิน พบว่า ระบบมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ 75/75 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีสมรรถนะหลังการฝึกอบรมตามระบบสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีความพึงพอใจต่อระบบการฝึกอบรมในระดับมาก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-01-01