การพัฒนาระบบการคัดกรองโรคต้อกระจก และโรคต้อหินในชุมชน กรณีศึกษา : สถานีอนามัยโรงเข้ เทศบาลตำบลหลักห้า อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

Main Article Content

อัมพร จงเสรีจิตต์

Abstract

วัตถุประสงค์ :เพื่อพัฒนาระบบการคัดกรองโรคต้อกระจก โรคต้อหินในชุมชนและระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์

วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการ (Action research) เพื่อพัฒนาระบบการคัดกรองโรคต้อกระจกและโรคต้อหินในชุมชน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในการดูแลของสถานีอนามัยโรงเข้ เทศบาลตำบลหลักห้า อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 2,549 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแผ่นวัดระดับสายตา เครื่องวัดความดันตา ตรวจวัดโดยบุคลากรสาธารณสุขระดับปฐมภูมิของรัฐ คือ สถานีอนามัย และสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ โดยพิจารณาจากผลการวัดระดับสายตา และค่าความดันตาในประชาชนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ที่มีค่าวัดความดันตาเท่ากับหรือมากกว่า 20 มิลลิเมตรปรอท และค่าระดับสายตาน้อยกว่าหรือเท่ากับ 20/100 (0.2) โดยส่งต่อไปยังจักษุแพทย์ เพื่อวินิจฉัย ให้การรักษา และติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าสถิติพื้นฐาน

ผลการศึกษา : พบว่าระบบการคัดกรองโรคต้อกระจกและโรคต้อหินในชุมชนได้รับการพัฒนาในรูปแบบใหม่ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นประชากรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 444 คน พบว่า มีผู้ที่มีความดันตาเท่ากับหรือสูงกว่า 20 มิลลิเมตรปรอท จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 1.80 ในจำนวนนี้ได้รับการส่งต่อและวินิจฉัยตรวจรักษาว่าเป็นโรคต้อหิน จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 62.50 (5 คนใน 8 คน) นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ที่มีระดับสายตาน้อยกว่าหรือเท่ากับ 20/100 จำนวน 58 คน คิดเป็นร้อยละ 13.06 ซึ่งได้รับการส่งต่อและวินิจฉัยตรวจรักษาว่าเป็นโรคต้อกระจก จำนวน 40 คน คิดเป็นร้อยละ 68.97(40 คนใน 58 คน)

สรุป : จากการศึกษาครั้งนี้จะเห็นว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมาย สามารถเข้าถึงบริการในระดับทุตติยภูมิด้านจักษุวิทยาได้ง่ายขึ้น บุคลากรสาธารณสุขระดับปฐมภูมิสามารถคัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจก และต้อหินได้อย่างดี ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการรักษาทันท่วงที สามารถลดอัตราการตาบอดของประเทศลงได้เป็นการช่วยลดภาระ และยังมีต้นทุนผลได้ (cost-benefit) ตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและหลัก Primary eye care system ขององค์การอนามัยโลกขณะเดียวกันระบบสาธารณสุขได้ถูกขับเคลื่อนให้ทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

 

Screening System Development For Cataracts And Glaucoma in Community: A Case Study of Community Helath Center in Lak Ha Subdistrict Municipality in Amphoe Ban Phaeo in Samut Sakhon Province 

Objective:1) To develop the screening system for cataracts and glaucoma in community. 2) To improve the referral system to hospitals having ophthalmologists.

Method: The data were collected from 444 patients from Lak Ha Subdistrict Municipality in Amphoe Ban Phaeo, Samut Sakhon Province. All patients in this study were 40 years old or above with intraocular pressure ≥ 20 mmHg or visual acuity ≤ 20/100 have also been referred to the ophthalmologists.

Results: Eight of 444 patients (1.80%) had intraocular pressure 20 mmHg. or above. Five of them (62.50%) were transferred to the ophthalmologists and were diagnosed glaucoma. On the contrary, 58 from 444 patients (13.06%) had visual acuity 20/100 or less. Forty of them (68.97%) were transferred to the ophthalmologists and were diagnosed cataracts.

Conclusion: The target population could easily access the secondary service. The primary service providers could also screen the people at risk for cataracts and glaucoma. This screening system helped ameliorate the rate of blinding and reduce the country burden. It was also cost-effective according to the benefit analysis base on the health economic principle and primary eye care system of World Health Organization (WHO). The health system also has been stimulated to be proactive in providing health care that helped improve the quality of life.

Article Details

Section
Research Articles