ความเป็นมา

            คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นคณะที่ผลิตบุคลากรทางด้านศิลปศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทางด้านสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์และด้านการพัฒนาสุขภาพ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านศิลปศาสตร์ตลอดจนเผยแพร่สู่สังคม ทางคณะฯ จึงได้จัดทำวารสารคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อเป็นสื่อหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวารสารฉบับแรกได้จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2555 มีกำหนดออกปีละ ฉบับ เพื่อให้เป้าหมายวารสารของคณะฯ มีคุณภาพที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานวารสารวิชาการระดับชาติ ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

หลักเกณฑ์การเสนอบทความ 

 1. เป็นบทความวิจัย บทความวิชาการ ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาและภาษาศาสตร์ นิเทศศาสตร์และการสื่อสาร และด้านการพัฒนาสุขภาพ

 2  เป็นบทความที่ไม่ได้อยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ หรือไม่ได้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ และไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารใดมาก่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากตรวจสอบพบว่ามีการตีพิมพ์ซ้ำซ้อน ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว

 3. เป็นบทความที่แสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีคุณค่าทางวิชาการ มีความสมบูรณ์ของเนื้อหา และมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ

 4. เป็นบทความภาษาไทยหรือบทความภาษาอังกฤษ ในกรณีเป็นบทความภาษาอังกฤษต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ก่อนส่งบทความมายังกองบรรณาธิการ

 5. ต้องเป็นบทความที่ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน

 6. บทความที่ส่งมาเพื่อตีพิมพ์จะได้รับการอ่านประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review) ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับบทความ จำนวน 3 ท่านต่อบทความ ในลักษณะ Double-blinded Review  และต้องได้รับผลการประเมินให้ผ่านจากผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ใน 3 ท่าน จึงมีสิทธิ์ได้รับการตีพิมพ์บทความลงในวารสาร

ขอบเขตเนื้อหา  

      ด้านมนุษยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์   ภาษาและวรรณคดี  คติชนวิทยา ประวัติศาสตร์และโบราณคดี
      ด้านสังคมศาสตร์   สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ นิเทศศาสตร์
      ด้านสุขภาพ  วิทยาศาสตร์การกีฬา พลศึกษา สุขศึกษา และนันทนาการ

ประเภทของบทความที่รับพิจารณา

    วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รับพิจารณาตีพิมพ์บทความโดยผู้เขียนจะต้องระบุประเภทของบทความให้ชัดเจน ดังนี้
1. บทความวิจัย
     บทความวิจัย คือผลงานทางวิชาการที่เป็นงานศึกษาหรืองานค้นคว้าอย่างมีระบบด้วยวิธีวิทยาการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น ๆ และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลคำตอบหรือข้อสรุปรวมที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือเอื้อต่อการนำวิชาการนั้นไปประยุกต์บทความควรมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ (สามารถมีหัวข้อหรือองค์ประกอบที่แตกต่างได้)
      - บทนำ (Introduction) ที่ครอบคลุมความสำคัญและที่มาของปัญหาวิจัยพร้อมทั้งเสนอภาพรวมของบทความ
      - ทบทวนวรรณกรรม (Literature Review)
      - วิธีการวิจัย (Research Methodology) ที่สามารถอธิบายวิธีดำเนินการวิจัยรวมถึงการเก็บข้อมูลหรือเครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัยอย่างชัดเจน
      - ผลการศึกษา (Research Finding)
      - อภิปรายและสรุปผลการวิจัย (Discussion/Conclusion)
   2.  บทความวิชาการ
        คืองานเขียนทางวิชาการซึ่งมีการกำหนดประเด็นที่ต้องการอธิบายหรือวิเคราะห์อย่างชัดเจน ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวตามหลักวิชาการ โดยมีการสำรวจวรรณกรรมเพื่อสนับสนุน จนสามารถสรุปผลการวิเคราะห์ในประเด็นนั้นได้ อาจเป็นการนำความรู้จากแหล่งต่าง ๆ มาประมวลร้อยเรียงเพื่อวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยที่ผู้เขียนแสดงทัศนะทางวิชาการของตนไว้อย่างชัดเจนด้วย

รูปแบบการประเมินบทความก่อนลงตีพิมพ์

        ในการประเมินบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิเป็นการประเมินแบบ Double-blind peer review  คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ทราบชื่อและรายละเอียดของผู้เขียนบทความ และผู้เขียนบทความไม่ทราบชื่อและรายละเอียดของของผู้ทรงคุณวุฒิ

กำหนดการเผยแพร่วารสาร

      มีกำหนดเผยแพร่ราย 6 เดือน ปีละ 2 ฉบับ ดังนี้
     •  ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มิถุนายน
     •  ฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม

สอบถามเพิ่มเติม
    วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. 
หมายเลขโทรศัพท์ 0 5387 5200 ต่อ 172
หรือ Email: liberalartsjournal@gmail.com