สวัสดีครับผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน วารสารภาษาและวัฒนธรรม ฉบับปีที่ 38 เล่มที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2562) เป็นฉบับแรกที่เผยแพร่แบบออนไลน์เพื่อจะให้ผู้อ่านทุกท่านมีโอกาสในการเข้าถึงบทความในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างกว้างขวางมากขึ้น ฉบับนี้มีบทความวิจัย 8 เรื่อง พร้อมทั้งบทวิจารณ์หนังสือและรายงานการประชุมวิชาการนานาชาติ ดังนี้

บทความฉบับแรก “โครงสร้างสัมพันธสารการพูดสร้างแรงบันดาลใจในภาษาไทย” โดยเอธิกา เอกวารีสกุล และปัทมา พัฒน์พงษ์ ใช้กรอบแนวคิดข้อความในสัมพันธสารของ Robert E. Longacre (1983) ในการวิเคราะห์มาจากตัวบทการพูดสร้างแรงบันดาลใจจากเวที TEDx Bangkok 2015 - 2017

บทความฉบับที่สอง ถนอมจิตต์ สารอต และสราวุฒิ ไกรเสม ศึกษา “ความเป็นพหุภาษาในชุมชนเมือง : กรณีศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภูมิทัศน์ทางภาษากับธุรกิจการค้าย่านนานาฝั่งเหนือ” ซึ่งช่วยให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาที่เข้ามามีบทบาทร่วมกับความเป็นโลกาภิวัตน์มากยิ่งขึ้น และเป็นแนวทางในการวางแผนสนับสนุนด้านการค้าและเศรษฐกิจ

สุนี คำนวลศิลป์ วิจัย “ภูมิรู้และวัฒนธรรมการทำตาลโตนดของคนเพชรบุรีที่สะท้อนผ่านภาษา” เพื่อสร้างความเข้าใจองค์ความรู้พื้นบ้านและวัฒนธรรมการทำตาลโตนด ซึ่งยังประโยชน์ในการอนุรักษ์สืบทอด การพัฒนาอาชีพทำตาล และการดำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมตาลของจังหวัดเพชรบุรี รวมถึงท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีการใช้ประโยชน์จากตาล

บทความต่อมา “‘คุรบานี’ จักรวาลในดวงจิต : เรียนรู้ปรัชญาจากสัตว์ในภาพพจน์” โดยอภิรัฐ คำวัง นำองค์ความรู้ทางปรัชญาศาสนาซิกข์ที่มีความน่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย หากจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม

กานดาภร เจริญกิตบวร วิเคราะห์ “การเล่นคำพ้องเสียงและพ้องภาพในเรื่องตลก” โดยอ้างอิงทฤษฎีวัจนอารมณ์ขันที่นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษเพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนภาษาอังกฤษ 

Yao Siqi วิจัย “อุปลักษณ์ “心 /ɕin55/ (ใจ)” กับรากฐานแห่งวัฒนธรรมจีน : การวิเคราะห์ตามแนวทฤษฎีการหลอมรวมความคิด” ซึ่งนอกจากจะได้รับได้รับอิทธิพลจาก “แนวความคิดเชิงองค์รวม” และ “แนวความคิดเชิงสมดุล” ของการแพทย์แผนจีนแล้ว ยังมีการสืบต่อและแผ่ขยายแนวความคิด “หยินหยาง” และ “ปัญจธาตุ” ที่แบกรับแก่นแท้แห่งความเป็นวัฒนธรรมจีนโบราณห้าพันปีไว้ด้วย

บทความ “การศึกษามุมมองทางวัฒนธรรมที่แตกต่างผ่านการใช้คำว่า ‘ยักษ์’ : กรณีศึกษาเรื่อง จูซังยะ ของฮิงูจิ อิจิโย” โดยปิยะนุช วิริเยนะวัตร์ และสุณีย์รัตน์ เนียรเจริญสุข วิเคราะห์ว่าการใช้คำว่า “ยักษ์” กับตัวละครหญิงในงานเขียนของฮิงูจิ และงานเขียนของไทยยังสะท้อนให้เห็นถึง “การต่อต้านอำนาจของบุรุษเพศ” ของสตรีในสังคมซึ่งแนวคิดแบบปิตาธิปไตยดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง

“ความคิดที่เชื่อว่ามีอยู่ก่อนในเรื่องสั้น ‘สงบงงในดงงู’ : แนวทางวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์” โดยสิริศิระ โชคทวีกิจ ศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นและภาวะอารมณ์ความรู้สึกสำคัญ ซึ่งเป็นแก่นเรื่องเกี่ยวกับความกล้าที่มาปกปิดความกลัว แต่ยังคงเป็นความกลัวที่ยังมีอำนาจเหนือความกลัวผ่านถ้อยอุปลักษณ์ของเรื่องคำว่า “งู”

จิติกานต์ จินารักษ์ วิจารณ์หนังสือ “พลังของความหมาย อะไรทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย” ของเอมิลี่ เอสฟาฮานี สมิธ (แปลโดยอรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ) หนังสือเล่มนี้นำเสนอแก่นหลัก (pillars) ของความหมาย โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ (1) ความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน (2) จุดมุ่งหมาย (3) การเล่าเรื่อง (storytelling) และ (4) การข้ามพ้นตัวตน (transcendence) ซึ่งเหมาะสำหรับการประยุกต์ในงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์แนวใหม่เกี่ยวกับชีวิตที่มีความหมายในด้านต่างๆ อาทิ ด้านปรัชญา วรรณกรรม ศาสนา และวัฒนธรรมสมัยนิยม

พัชวลัญช์ ณ นคร เล่าเรื่อง การประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “The Fun for All: 5th International Conference on Video Game Translation and Accessibility – Current Trends and Future Developments” ครั้งที่ 5 ณ เมืองบาร์เซโลน่า ราชอาณาจักรสเปน วันที่ 7 - 8 มิถุนายน พ.ศ.2561

วารสารฯ ฉบับนี้สำเร็จลงได้ด้วยความอนุเคราะห์จากผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาบทความอย่างมีคุณภาพและเหมาะสมที่จะได้รับการตีพิมพ์เพื่อให้บรรลุเกณฑ์ของศูนย์ดัชนีการอ้างอิง TCI กลุ่มที่ 1 ในนามของกองบรรณาธิการฯ กระผมขอขอบพระคุณผู้เขียน กองบรรณาธิการ บรรณาธิการบริหาร และคณะกรรมการผลิตวารสารฯ ทุกท่าน มา ณ โอกาสนี้

Published: 06-04-2020

A discourse structure of inspiration talks in Thai

เอธิกา เอกวารีสกุล, ปัทมา พัฒน์พงษ์

1-23

Urban multilingualism: A case study of the relationship between linguistic landscape and business in North Nana

ถนอมจิตต์ สารอต, สราวุฒิ ไกรเสม

24-40

Verbal and visual puns in jokes

กานดาภร เจริญกิตบวร

86-104

The study of cross-cultural viewpoints through the usage of the words for“Ogre”: A case study of Juusanya by Higuchi Ichiyo

ปิยะนุช วิริเยนะวัตร์, สุณีย์รัตน์ เนียรเจริญสุข

135-153