วารสารภาษาและวัฒนธรรม มุ่งเน้นเผยแพร่ความรู้และประเด็นทางวิชาการด้านภาษาและวัฒนธรรมในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตีพิมพ์บทความวิชาการที่มีคุณภาพและน่าสนใจทั้งของนักวิชาการและนักศึกษา ทั้งนี้กองบรรณาธิการได้พัฒนาคุณภาพและเร่งรัดกระบวนการผลิตวารสารอย่างเข้มข้น ทำให้ได้รับการประเมินคุณภาพโดยศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Undex Centre - TCI) ให้อยู่ในกลุ่มที่ 1
วารสารฯ ฉบับนี้นำเสนอบทความวิชาการที่มีความหลากหลายจำนวน 8 บทความ บทความแรก นงลักษณ์ ลิ้มศิริ เสนอแนวคิดการจัดนิทรรศการและการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ภายใต้บริบทสังคมใหม่ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจีน ถัดมาเป็นบทความของมรกต ไมยเออร์ โดยอภิปรายถึงการจัดนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นการนำเสนอภาพตัวแทนของความเป็นสังคมพหุลักษณ์และความเป็นเอกภาพของมาเลเซีย บทความต่อมา เจษฎา นิลสงวนเดชะ บอกเล่าเรื่องราวของศาลเจ้าจีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บ่งบอกร่องรอยของพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชาวจีน ซึ่งคุณค่าและความสำคัญของศาลเจ้าจีนนั้นไม่ได้เป็นเพียงศรัทธาสถาน แต่ยังเป็นสถานที่ที่หล่อหลอมวิถีการอยู่ร่วมกันของชาวจีนและชาวไทย ต่อมา เปรมวัฒนา สุวรรณมาศ ศึกษาการผสมผสานคติพราหมณ์และคติพุทธที่ปรากฏใน เฉลิมไตรภพ อันเป็นวรรณกรรมรวบรวมสรรพตำนานภาคกลางของไทย บทความที่ห้าของสุธี จันทร์ศรี และสมทรง บุรษพัฒน์ สืบค้นการธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทดำภายใต้พลวัตวัฒนธรรม วิพากษ์นิยามมรดกวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์วัฒนธรรมดนตรีใหม่ของไทดำ บทความต่อมา อุกฤษณ์ เฉลิมแสน กล่าวถึงการเมืองเชิงอัตลักษณ์บนพื้นที่ดิจิทัล วิพากษ์การใช้และผลกระทบของสื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือต่อรองและสร้างตัวตนของเน็ตไอดอลอีสาน บทความที่เจ็ด ปราง ศรีอรุณและทอแสง เชาว์ชุติ ทบทวนวรรณกรรมญี่ปุ่นประเภทอาชญนิยายเรื่อง ราตรีสีเลือด ผ่านการเล่าเรื่องแบบ “ดิสโทเปีย” ของกรุงโตเกียว นำเสนอและวิพากษ์ให้เห็นปัญหาของสังคมเมืองจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่ และบทความสุดท้ายโดยทนพร ตรีรัตน์สกุลชัย สำรวจวรรณกรรมญี่ปุ่นใน วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ช่วงปี ค.ศ.1970 แสดงถึงการใช้วรรณกรรมญี่ปุ่นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ อุดมการณ์ของวารสาร รวมถึงสร้างการรับรู้ของนักวิชาการไทยในยุคนั้น สำหรับส่วนท้ายของวารสารฯ ยังคงนำเสนอบทวิจารณ์หนังสือและรายงานการประชุมวิชาการเหมือนเช่นเคย
ในนามของกองบรรณาธิการ ใคร่ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการผลิตวารสารฯ ฉบับนี้ ซึ่งช่วยทำให้วารสารฯ ฉบับนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการอันมีประโยชน์ต่อผู้อ่านและสังคม
Published: 17-05-2019