จริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน

(Publication Ethics)

ารสารจิตวิทยาคลินิกมีกระบวนการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์นานาชาติจึงได้กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติ และจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ของ Committee on Publication Ethics (COPE ethical guidelines) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์

  • ต้นฉบับที่ผู้นิพนธ์ส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาคลินิก จะต้องไม่เคยตีพิมพ์และเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างการรอตีพิมพ์ในวารสารอื่น การตีพิมพ์บทความเรื่องเดียวกันในวารสารมากกว่า 1 ฉบับถือว่าผิดจรรยาบรรณทางการเผยแพร่ผลงาน
  • ในการนำเสนอผลการวิจัยหรือข้อมูลวิชาการ ผู้นิพนธ์ควรนำเสนอข้อมูลตามความจริง  การบิดเบือนปกปิดหรือรายงานข้อมูลที่เป็นเท็จถือเป็นการผิดจรรยาบรรณ
  • ผู้นิพนธ์มีหน้าที่รับผิดชอบในเนื้อหา ภาษา และความริเริ่มของบทความ ผู้นิพนธ์ต้องไม่นำการค้นคว้าหรือผลงานของผู้อื่นมาใช้โดยปราศจากการอ้างอิงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การคัดลอกผลงานไม่ว่าจะจากบุคคลอื่นหรือของผู้นิพนธ์เอง ถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณในการเผยแพร่ผลงานและยอมรับไม่ได้ในวงวิชาการ
  • เมื่อมีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่น ผู้นิพนธ์ต้องแสดงรายละเอียดการอ้างอิงอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง โดยจัดทำรายการอ้างอิงแหล่งข้อมูลท้ายบทความ
  • เมื่อผู้นิพนธ์พบข้อผิดพลาดที่สำคัญในบทความที่ตีพิมพ์ ผู้นิพนธ์มีหน้าที่แจ้งและทำงานร่วมกับกองบรรณาธิการเพื่อแก้ไขหรือเพิกถอนบทความ
  • การมีชื่อเป็นผู้นิพนธ์ควรจำกัดเพียงบุคคลที่มีส่วนร่วมในบทความอย่างมีนัยสำคัญ (ในแง่การวางกรอบบทความ การออกแบบระเบียบวิธีวิจัย การบริหารโครงการวิจัย การวิเคราะห์และอภิปรายผลการวิจัย) ตามความเป็นจริง โดยผู้ที่มีส่วนร่วมในบทความอย่างมีนัยสำคัญควรมีรายชื่อเป็นผู้นิพนธ์ร่วม
  • หากผลงานวิชาการได้รับทุนสนับสนุน ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนเอาไว้อย่างเหมาะสม
  • ผู้นิพนธ์มีหน้าที่เปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนต่อผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ อาทิ ผู้จ้างงาน การเป็นที่ปรึกษา เจ้าของกิจการ ค่าธรรมเนียมวิชาชีพ หรือเจ้าของสิทธิบัตร
  • ผู้นิพนธ์มีหน้าที่ศึกษา “คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์” และเขียนบทความตามรูปแบบที่วารสารฯ กำหนด

บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ

  • บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความที่ขอรับการตีพิมพ์ในวารสารที่รับผิดชอบ
  • การพิจารณาของบรรณาธิการฯ จะต้องปราศจากการเลือกปฏิบัติกับผู้นิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือเพศ และการตัดสินใจตอบรับหรือปฏิเสธบทความจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของบทความได้แก่ ความสำคัญ ความริเริ่ม ความชัดเจน รวมถึงความสอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของวารสาร
  • กองบรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ขอรับการตีพิมพ์ให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านเนื้อหาบทความ ข้อมูลของผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินบทความ และกองบรรณาธิการที่ให้คำแนะนำ
  • บรรณาธิการจะไม่นำข้อมูลจากบทความที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยส่วนตัวนอกเหนือจากจะได้รับคำอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้นิพนธ์ รวมถึงไม่นำข้อเสนอจากผู้ประเมินบทความไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
  • ในการคัดเลือกผู้ประเมินบทความ บรรณาธิการจะหลีกเลี่ยงการเลือกผู้ประเมินบทความที่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับบทความ ผู้นิพนธ์ หรือหน่วยงานของผู้นิพนธ์
  • บรรณาธิการต้องมีกระบวนการตรวจสอบ “การคัดลอกผลงานผู้อื่น” เพื่อป้องกันการลงตีพิมพ์บทความที่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น
  • บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์มาแล้ว
  • บรรณาธิการมีหน้าที่ในการจัดการข้อร้องเรียนด้านจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงาน

บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  • ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับ โดยจะไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดของบทความ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาบทความ หรือข้อมูลของผู้นิพนธ์
  • หากพบว่าบทความอยู่นอกเหนือจากความถนัดหรือความสนใจของผู้ประเมินบทความ หรือพบว่าผู้ประเมินบทความมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบทความหรือผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบและปฏิเสธการประเมินบทความฉบับนั้น
  • ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความตามสาขาที่ตนเชี่ยวชาญ และมีหลักการประเมินเน้นคุณภาพของบทความ ผู้ประเมินบทความจะหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ตัวบุคคลหรือหน่วยงาน ตลอดจนการใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิง
  • ผู้ประเมินบทความต้องระบุผลงานวิจัยที่สำคัญต่อบทความที่กำลังประเมิน แต่ผู้นิพนธ์ไม่ได้อ้างถึง เข้าไปในการประเมินบทความด้วย นอกจากนี้หากพบว่ามีงานวิจัยอื่นที่ผู้นิพนธ์นำมาใช้แต่ไม่ได้อ้างอิงหรือพบการคัดลอกผลงานรวมถึงความทับซ้อนกับบทความอื่นที่ตีพิมพ์แล้ว ผู้ประเมินบทความจะแจ้งให้บรรณาธิการทราบ