การสร้างแบบวัดสมรรถนะผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพในไทยลีก The Construction of a Competency Scale for Professional Football Coaches in Thai Leagues

Main Article Content

สุรพงษ์ กูลนรา
สิทธิ์ ธีรสรณ์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างแบบวัดสมรรถนะผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพในไทยลีก
2) ประเมินสมรรถนะผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพในไทยลีก 3) เปรียบเทียบสมรรถนะผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพ
ในไทยลีกจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล การสร้างแบบวัดสมรรถนะผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพในไทยลีก
เก็บข้อมูลโดยการใช้เทคนิควิธีวิจัยแบบเดลฟาย (Delphi Technique) ซึ่งได้รวบรวมความคิดเห็นจาก
ผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ด้านกีฬาฟุตบอลในประเทศไทยจำนวน20 ท่าน
ดำเนินการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามปลายเปิดในรอบที่ 1 แล้วนำมาจัดเป็นข้อย่อยและตัดข้อมูล
ที่ซ้ำซ้อนออกเพื่อสร้างเป็นข้อคำถามในแบบสอบถามในรอบที่ 2 และ 3 การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยใช้
การหาค่ามัธยฐาน (Median: MD) ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์(Interquartile Range: IR) และค่าสัมบูรณ์ของ
ผลต่างระหว่างค่ามัธยฐานกับค่าฐานนิยม (|Md-Mo|) สำหรับการประเมินสมรรถนะผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพ
ในไทยลีก เก็บรวบรวมโดยใช้แบบสอบถามผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพในไทยลีกจำนวน 53 คน สถิติที่ใช้
วิเคราะห์ข้อมูล เสนอโดยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที การวิเคราะห์
ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way analysis of variance) และการทดสอบรายคู่ด้วยวิธีของTukey
นำเสนอข้อมูลสรุปผลการวิจัย ดังนี้
1. แบบวัดสมรรถนะของผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอลอาชีพประกอบด้วย 6 ด้านคือ สมรรถนะ
ด้านความรู้ สมรรถนะด้านทักษะ สมรรถนะด้านความสามารถ สมรรถนะด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับตนเอง
สมรรถนะด้านบุคลิกลักษณะประจำของบุคคล และสมรรถนะด้านแรงจูงใจหรือแรงขับภายใน
2. การประเมินสมรรถนะผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพในไทยลีกในภาพรวมมีดังนี้คือ สมรรถนะ
ด้านแรงจูงใจหรือแรงขับภายใน สมรรถนะด้านบุคลิกลักษณะประจำของบุคคล สมรรถนะ
ด้านความสามารถ สมรรถนะด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับตนเอง และสมรรถนะด้านทักษะอยู่ในระดับดี
ตามลำดับ ส่วนสมรรถนะด้านความรู้อยู่ในระดับปานกลาง
3. ผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพในไทยลีกที่มีประสบการณ์ในการเป็นผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพ
ประสบการณ์ในการเป็นผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพในไทยลีก ตำแหน่ง ระดับชั้นในไทยลีก และประวัติ
การฝึกอบรมแตกต่างกัน มีสมรรถนะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนอายุและระดับ
การศึกษาไม่พบความแตกต่าง

Article Details

Section
Research Articles