ผลของการฝึกด้วยแรงต้านความหนักต่ำร่วมกับความหนักสูงที่มีต่อความแข็งแรง และพลังกล้ามเนื้อขา

Main Article Content

อดิศักดิ์ สาบวช

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลของการฝึกด้วยแรงต้านความหนักต่ำร่วมกับความหนักสูงที่มีต่อความแข็งแรงและพลังกล้ามเนื้อขา อาสาสมัครเป็นเพศชาย จำนวน 29 คน อายุระหว่าง 19-22 ปี ถูกสุ่มอย่างง่ายออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้รับการฝึกด้วยแรงต้านความหนัก 60% 1RM จำนวน 3 เซตๆ ละ 15 ครั้ง โดยให้อาสาสมัครเคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่สามารถทำได้ พักระหว่างเซต 30วินาที  จำนวน 10 คน กลุ่มที่ 2 ได้รับการฝึกด้วยแรงต้านความหนัก 80% 1RM จำนวน 7 เซตๆ ละ 5 ครั้ง พักระหว่างเซต 2 นาที จำนวน 10คน และกลุ่มที่ 3 ได้รับการฝึกด้วยแรงต้านความหนัก 60% 1RM ร่วมกับ 80% 1RM จำนวน 2 เซต เริ่มต้นฝึกที่ความหนัก 60% 1RM จำนวน 15 ครั้ง โดยให้อาสาสมัครเคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่สามารถทำได้ หลังจากนั้นเพิ่มน้ำหนักเป็น 80% 1RM แล้วปฏิบัติต่ออีก 5 ครั้ง พักระหว่างเซต 3 นาที จำนวน 9 คน โดยใช้เวลาการฝึก 8 สัปดาห์ ทำการทดสอบพลังงานกล้ามเนื้อขาจากความสูงของการกระโดดในแนวดิ่ง และความแข็งแรงสูงสุดของกล้ามเนื้อขาก่อนการฝึกและหลังการฝึกสัปดาห์ที่ 8 ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มที่ 1 มีพลังกล้ามเนื้อขาจากการทดสอบความสูงของการกระโดดในแนวดิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการฝึกสัปดาห์ที่ 8 อย่างไรก็ตามไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของพลังกล้ามเนื้อขาในกลุ่มที่ 2 และ 3 เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการฝึกสัปดาห์ที่ 8 นอกจากนี้ยังไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของพลังกล้ามเนื้อเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม ความแข็งแรงสูงสุดกล้ามเนื้อขาในท่าสควอททั้ง 3 กลุ่ม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการฝึกสัปดาห์ที่ 8 อย่างไรก็ตามไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของความแข็งแรงสูงสุดกล้ามเนื้อขาเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม จากผลการวิจัยพบว่า โปรแกรมการฝึกทั้ง 3 โปรแกรมสามารถพัฒนาความแข็งแรงและพลังกล้ามเนื้อขาได้ไม่แตกต่างกัน

Article Details

Section
Research Articles