ปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกแบบมีส่วนร่วม: นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

ผู้แต่ง

  • ธาตรี มหันตรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • ปัณณธร หอมบุญมา อาจารย์พิเศษ ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

คำสำคัญ:

การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม, พื้นที่มรดกโลก, นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์การวิจัยครั้งนี้เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกแบบมีส่วนร่วม               นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 2) หาแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกแบบมีส่วนร่วมนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมี 2 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกแบบมีส่วนร่วมฯ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงาน รวม 10 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาใช้การวิเคราะห์จำแนกแยกแยะข้อมูล และ 2) ศึกษาหาแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกแบบมีส่วนร่วมฯ โดยการจัดสนทนากลุ่มจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงานรวม 10 คน  ผลการศึกษาพบว่า 1.สภาพปัญหาการบริการจัดการพื้นที่มรดกโลกแบบมีส่วนร่วม นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่สำคัญ มี 6 เรื่อง ประกอบด้วย 1) การบุกรุกพื้นที่ 2) การขาดหน่วยงานหลักและบุคลากรเพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการพื้นที่ 3) การใช้ที่ดินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 4) การเมืองท้องถิ่นภายในพื้นที่ 5) งบประมาณในการบริหารจัดการในพื้นที่ และ 6) การบังคับใช้กฎหมาย 2.แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกแบบมีส่วนร่วมฯ ที่สำคัญ ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและแผนแม่บทสำหรับการอนุรักษ์และจัดการมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติให้มีความชัดเจนและต่อเนื่อง 2) การกำหนดให้มีกฎหมายพิเศษเพื่อใช้บังคับในพื้นที่ 3) การตั้งหน่วยงานพิเศษสำหรับบริหารจัดการพื้นที่เป็นการเฉพาะ และ 4) อำนาจจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการบริหารจัดการพื้นที่ภายใต้กฎหมายพิเศษ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27