การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่น ในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

Participation of citizens with public policy formulation Case Study of Subdistrict Administrative Organization in Wang Nam Khiao District, Nakhon Ratchasima Province.

ผู้แต่ง

  • อนุชา พิมายนอก คณะรัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยนครราชสีมา

คำสำคัญ:

การกำหนดนโยบาย , นโยบายสาธารณะ, การมีส่วนร่วมของประชาชน, Public Policy Formulation, Public Policy, Public Participation

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Method)  โดยมีวัตถุประสงค์เพี่อ 1) เพื่อศึกษากระบวนการในการกำหนดนโยบายสาธารณะขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 2) เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่น 3) เพื่อเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 68 คน  และประชาชนผู้รับบริการ จำนวน 391 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการกำหนดนโยบายสาธารณะ 2) แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูล โดยการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า ใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percent) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสถิติ t-test, F-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA Analysis)

ผลวิจัย พบว่า

  1. กระบวนการในการกำหนดนโยบายสาธารณะขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในอำเภอ
    วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มีขั้นตอนในการดำเนินการโดยมุ่งเน้นการศึกษาไป 1) การรวบรวมปัญหาและความต้องการ 2) การวิเคราะห์ข้อมูลและสาเหตุของปัญหา 3) การกำหนดนโยบาย และ4) การติดตามการดำเนินนโยบาย
  2. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นในอำเภอ
    วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยด้านการร่วมรับผลประโยชน์มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ ด้านการร่วมคิด ด้านการร่วมประเมินผลและด้านการร่วมดำเนินการ ตามลำดับ
  3. การเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่น กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา พบว่า

               3.1) ประชาชนที่มีเพศต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ไม่แตกต่างกัน

               3.2) ประชาชนที่มีอายุต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อ 2

               3.3) ประชาชนที่มีอาชีพต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานข้อ 3

               3.4) ประชาชนที่มีรายได้ต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่น ในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อ 4

               3.5) ประชาชนที่มีระดับการศึกษาต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่น ในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานข้อ 5 ที่ตั้งไว้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-06-09

How to Cite