ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ต่างด้าวที่ฝากครรภ์และคลอดในโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
Main Article Content
บทคัดย่อ
ความเป็นมา : หนึ่งในบริการสุขภาพที่กลุ่มแรงงานต่างด้าวเข้ามารับบริการคือการฝากครรภ์และคลอดบุตร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วปัญหาที่พบบ่อยในคนไทยคือภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ แต่ยังมีการศึกษาที่จำกัดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ต่างด้าว
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ต่างด้าวโรงพยาบาลสันทราย
ระเบียบวิธีวิจัย : การวิจัยย้อนหลังเชิงพรรณนาในหญิงตั้งครรภ์ต่างด้าวที่มาฝากครรภ์และคลอดที่โรงพยาบาลสันทราย ช่วงเวลา 1 ตุลาคม 2559 ถึง 30 มิถุนายน 2560 จำนวน 441 คน โดยทำการศึกษาข้อมูลปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางสูติศาสตร์ของหญิงตั้งครรภ์ต่างด้าว
ผลการศึกษา : พบความชุกของภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ต่างด้าวจากการเจาะเลือดครั้งที่ 1 ร้อยละ 28.3 จากข้อมูลทั่วไป หญิงตั้งครรภ์ต่างด้าวมีอายุระหว่าง 20-34 ปีร้อยละ 82.1 เป็นสัญชาติพม่า 355 คน(ร้อยละ 80.5) ส่วนใหญ่ร้อยละ 97.5 ไม่ได้เรียนหนังสือ มีอาชีพรับจ้าง 417 คน (ร้อยละ 94.6) และไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 93.7 โดยในกลุ่มมีโรคประจำตัวพบความสัมพันธ์ของโรคประจำตัวกับการเกิดภาวะโลหิตจางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)
หญิงต่างด้าวส่วนใหญ่ตั้งครรภ์แรก (ร้อยละ 52.2) พบสัดส่วนภาวะโลหิตจางในหญิงที่มาฝากครรภ์ครั้งแรกที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ร้อยละ 37.6 และที่อายุครรภ์ 12-27 สัปดาห์ ร้อยละ 56.8 ตามลำดับ มีคนมาฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์คุณภาพประมาณครึ่งนึง (ร้อยละ 54.0) และเข้าอบรมเตรียมความพร้อมในการตั้งครรภ์ร้อยละ 45.4
สรุปผลการศึกษา : ความชุกของการเกิดภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ต่างด้าวสูงกว่าเป้าหมายที่โรงพยาบาลคาดการณ์ไว้ (เป้าหมายไม่เกินร้อยละ20) ประมาณครึ่งหนึ่งรับบริการตามเกณฑ์รวมถึงรับการอบรมขณะฝากครรภ์เพิ่มเติม และพบความสัมพันธ์ของโรคประจำตัวกับการเกิดภาวะโลหิตจางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
Article Details
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร PCFM ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง ซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร PCFM ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสาร PCFM หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสาร PCFM ก่อนเท่านั้น