กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของประเทศไทย
คำสำคัญ:
กลยุทธ์, การพัฒนา, อุตสาหกรรมป้องกันประเทศบทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของประเทศไทย และ (2) เพื่อศึกษา กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของประเทศไทย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายภาครัฐ ผู้บริหารขององค์กรในหน่วยงานของภาครัฐ ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ คณะกรรมการบริหารสมาคมสมาคมที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งหมด 20 คน โดยวิธีการคัดเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-structured Interview) ผลการวิจัยพบว่า (1) ปัญหาและอุปสรรคของกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของประเทศไทย พบว่า ขาดนโยบายที่ชัดเจนและสอดคล้องกันทั้งระบบ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และกฎหมาย ที่ใช้อยู่ยังไม่ตอบรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน การขาดมาตรฐานของยุทโธปกรณ์ การขาดแคลนบุคลากร ขาดความประสานกันทั้งระบบ ข้อจำกัดด้านเงินลงทุนและงบประมาณ รวมทั้งการขาดความคำนึงถึงผลประโยชน์และผลลัพธ์ที่มีต่อความมั่นคงแห่งชาติเป็นสำคัญของภาคส่วนต่าง ๆ และ (2) กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของประเทศไทย ประกอบด้วย 1) ด้านการประสานการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม พบว่า ภาครัฐและภาคเอกชนไทยมีการบูรณาการความร่วมมือกันในหลายลักษณะ 2) ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พบว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 และพ.ร.บ. เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจน 3) ด้านการส่งเสริม/สนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ พบว่า มีการผลักดัน พ.ร.บ. การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การเพิ่มอัตราส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ 4) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พบว่า ต้องมีการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ 5) ด้านการนำภาคอุตสาหกรรมสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) พบว่า ภาคอุตสาหกรรมต้องอาศัยการอำนวยความสะดวกให้ผลิตในเชิงพาณิชย์จากภาครัฐ และ 6) ด้านนโยบายการจัดซื้อแบบชดเชย (Offset Policy) พบว่า นโยบายการจัดซื้อแบบชดเชย เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในไทย