ความเข้มแข็งทางจิตใจและสภาวะลื่นไหลของนักกีฬาเทควันโดประเภทต่อสู้

Main Article Content

สฤษฎิเดช สุมงคล

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความเข้มแข็งทางจิตใจและสภาวะลื่นไหลของนักกีฬาเทควันโดประเภทต่อสู้ และหาความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มแข็งทางจิตใจและสภาวะลื่นไหล กลุ่มตัวอย่างคือนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันรายการ “GH Bank เทควันโด ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2558 จำนวน 164 คน (ชาย 79 คน หญิง 85 คน) เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามจำนวน 2 ฉบับ คือ ความเข้มแข็งทางจิตใจของนักกีฬาเทควันโดของ สุริยัน (2554) และแบบวัดสภาวะลื่นไหลสำหรับกิจกรรมกีฬา ฉบับภาษาไทย ของจิรัฐติกุล (2557) นำคะแนนทั้งสองแบบสอบถามมาวิเคราะห์หาความแตกต่างโดยใช้สถิติ t-test independent และทดสอบความสัมพันธ์โดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ สเปียร์แมนแรงค์ โดยกำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


            ผลการวิจัยพบว่า 1) นักกีฬาเทควันโดชายมีคะแนนสภาวะลื่นไหล 3.8 ± .67 คะแนน T score 50.78 คะแนนจัดอยู่ในระดับปานกลาง และมีคะแนนความเข้มแข็งทางจิตใจ 3.9 ± .62 คะแนนจัดว่าอยู่ในระดับสูง ส่วนนักกีฬาหญิงมีคะแนนสภาวะลื่นไหล 3.6 ± .72 คะแนน T score 46.84 คะแนนจัดอยู่ในระดับปานกลาง และมีคะแนนความเข้มแข็งทางจิตใจที่ 3.7 ± .62 คะแนน จัดว่าอยู่ในระดับสูง 2) นักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลมีความเข้มแข็งทางจิตใจแตกต่างจากนักกีฬาที่ไม่ได้รับเหรียญรางวัลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 3) นักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลมีสภาวะลื่นไหลแตกต่างจากนักกีฬาที่ไม่ได้รับเหรียญรางวัลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4) ความเข้มแข็งทางจิตใจในนักกีฬาเทควันโดชายและนักกีฬาเทควันโดหญิงพบความแตกต่างในด้านความมุ่งมั่นและด้านการควบคุมพลังงานเชิงลบ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 4) สภาวะลื่นไหลในนักกีฬา เทควันโดชาย และนักกีฬาเทควันโดหญิงพบความแตกต่างกันในเรื่องการรู้สึกแห่งการควบคุม และขาดการตระหนักรู้ในตนเองอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 5) ความเข้มแข็งทางจิตใจและสภาวะลื่นไหลมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 และมีค่า r = .94  จึงเห็นได้ว่าความเข้มแข็งทางจิตใจและสภาวะลื่นไหลมีความสัมพันธ์กันและเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของนักกีฬาเทควันโดประเภทต่อสู้

Article Details

Section
Research Articles