ผลของการเดินสวนหินและการเดินจงกรมที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับในเพศหญิง อายุ 50 - 69 ปี

Main Article Content

กนกพร รัตน์รอดกฤษณ์

Abstract

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลของการเดินสวนหินและการเดินจงกรมที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับในเพศหญิง อายุ 50 – 69 ปี กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง ที่อาศัยอยู่ตำบล กำแพงแสน อำเภอ กำแพงแสน จังหวัด นครปฐม จำนวน 10 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการสุ่มการทดลอง 3 รูปแบบ ได้แก่ วัดคุณภาพการนอนหลับก่อนการทดลองเป็นค่าพื้นฐาน วัดคุณภาพการนอนหลับภายหลังจากการเดินสวนหิน และวัดคุณภาพการนอนหลับภายหลังจากการเดินจงกรม โดยใช้เครื่องวัดคุณภาพการนอนหลับ แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติ โดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำมิติเดียว (One - way ANOVA with repeated measure) และเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่ โดยวิธีของ Tukey กำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05


 ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยของประสิทธิภาพการนอนหลับ ระยะเวลาการนอนหลับตื้น ระยะเวลาการนอนหลับช่วงฝัน เปอร์เซ็นต์ของระยะเวลาการนอนหลับตื้น เปอร์เซ็นต์ของระยะเวลาการนอนหลับลึก และเปอร์เซ็นต์ของระยะเวลาการนอนหลับช่วงฝันระหว่างค่าพื้นฐาน การเดินสวนหิน และการเดินจงกรม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 อย่างไรก็ตามพบว่า ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาการนอนหลับลึก ระหว่างค่าพื้นฐาน การเดินสวนหิน และการเดินจงกรม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 จากผลการวิจัย สามารถสรุปได้ว่า การเดินสวนหินและการเดินจงกรม ส่งผลให้ระยะเวลาการนอนหลับลึกมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น

Article Details

Section
Research Articles