การใช้เวลาว่างและการเข้าร่วมกิจกรรมทางกายของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (LEISURE TIME AND PHYSICAL ACTIVITY PARTICIPATION OF FIRST YEAR STUDENTS IN ASSUMPTION UNIVERSITY)

Main Article Content

ญาณาธร เปรมกมล

Abstract

บทคัดย่อ


การวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้เวลาว่างของนักศึกษาในด้านส่วนตัวด้านสังคมด้านการเรียนและด้านการทำงานนอกเวลารวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมทางกายเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญปีการศึกษา 2558 จำนวน 344 คน  จาก 10 คณะ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) แบบสอบถามการใช้เวลาว่างที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผ่านการพิจารณาความตรงของเครื่องมือจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน 2) แบบสอบถามการมีกิจกรรมทางกายของ IPAG (International Physical Activity Questionnaire)แบบ Short Form แปลโดย ประกาย  จิโรจน์กุลและคณะ  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการทางสถิติได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1) การใช้เวลาว่างของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญให้ความสำคัญกับการใช้เวลาว่างด้านส่วนตัวเป็นลำดับแรกอยู่ในระดับบ่อยครั้ง ( = 2.84) รองลงมาด้านการเรียนอยู่ในระดับบ่อยครั้ง ( = 2.59) ด้านสังคมอยู่ในระดับบ่อยครั้ง ( = 2.51) และด้านการทำงานนอกเวลาอยู่ในระดับไม่เคยปฏิบัติ  ( = 1.48) ตามลำดับ 2) เมื่อพิจารณาจากเวลาที่นักศึกษาใช้ในการเข้าร่วมกิจกรรมทางกายประเภทต่าง ๆ สามารถนำมาคำนวณและเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานระดับนานาชาติ ที่กำหนด โดย IPAQ พบว่า มีนักศึกษามีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางมากที่สุด จำนวน 209 คน (60.8%) มีกิจกรรมทางกายระดับสูง จำนวน 90 คน (26.2%) และมีกิจกรรมทางกายระดับต่ำ จำนวน 45 คน (13.1%) นักศึกษาใช้เวลาในการเดินประมาณวันละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง และนั่งประมาณวันละ 6 ชั่วโมงตามลำดับ 3) อุปสรรคที่ขัดขวางในการเข้าร่วมกิจกรรมทางกายในมหาวิทยาลัย นักศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าสถานที่ออกกำลังกายมีไม่เพียงพอ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ หรืออาจอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน และไม่มีครูผู้ฝึกสอนคอยให้คำแนะนำในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ผลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้เวลาว่างและการเข้าร่วมกิจกรรมทางกายในการส่งเสริมทางด้านสมรรถภาพทางกายและจิตที่จะส่งผลถึงสุขภาพโดยรวมของนักศึกษา และมีข้อเสนอแนะในการวิจัยเพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างและการเข้าร่วมกิจกรรมทางกาย

Article Details

Section
Research Articles