รูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชชื่อเรื่องบทความ
Main Article Content
Abstract
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของยาเสพติดในโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช 2) เพื่อสร้างรูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 3) เพื่อทดลองใช้และประเมินผลรูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กำหนดขั้นตอนการวิจัยออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของยาเสพติดในโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีประชากร นักเรียน จำนวน 1,352 คน กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้อำนวยการโรงเรียน ตัวแทนคณะกรรมการนักเรียน ครูแนะแนว และครูผู้รับผิดชอบงานด้านการป้องกันยาเสพติด เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่มกับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช และชุมชนรอบรั้วโรงเรียน จำนวน 13 คน ระยะที่ 2 สร้างรูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยผู้วิจัยได้ประชุมกลุ่มแกนนำนักเรียนชั้นเรียน จำนวน 46 คน และตัวแทนผู้ปกครองเครือข่าย จำนวน 43 คน รวม 89 คน โดยใช้เทคนิค A-I-C แบ่งกลุ่มประชุมกลุ่มย่อย มีการระดมสมองคิด กิจกรรม แผนงานโครงการ และรูปแบบที่เหมาะสมจากแต่ละกลุ่ม สรุปและอภิปรายผลต่อที่ประชุมใหญ่ จำนวน 12 โครงการ เป็นรูปแบบการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะที่ 3 ทดลองใช้และประเมินผลรูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยนำรูปแบบที่ได้จากการสร้างขึ้นในระยะที่ 2 และมีการปรับปรุงแล้วไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 5 จำนวน 1060 คน โดยผู้วิจัยเก็บข้อมูลพื้นฐานก่อนการทดลองใช้รูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (Pre –test) กับนักเรียน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการป้องกัน การค้นหา การเฝ้าระวัง การบริหารจัดการ และกลยุทธ์ 4 ต้อง 2 ไม่ และความพึงพอใจของนักเรียนต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียนเมื่อเก็บข้อมูลก่อนการทดลองใช้รูปแบบแล้วจึงทำการทดลองใช้รูปแบบเป็นระยะเวลา 6 เดือน และหลังจากนั้นเก็บข้อมูลหลังการทดลอง (Post –test) เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังการทดลอง โดยใช้สถิติเชิงบรรยาย (Descriptive Statistics)
ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชพบว่ามีนักเรียนมีปัญหาในด้านการสูบบุหรี่ การใช้กัญชา ยาบ้า และปัญหาการดื่มน้ำต้มพืชกระท่อม ซึ่งส่งผลกระทบด้านการเรียนมีผู้สูบบุหรี่รายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลการสร้างรูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช จากการระดมสมองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้โครงการในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจำนวน 12 โครงการ ได้แก่ เข้าค่ายคุณธรรม จริยธรรม, การเยี่ยมบ้านนักเรียน, การประชุมเครือข่ายผู้ปกครองและผู้ปกครองชั้นเรียน, ส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตเพื่อป้องกันยาเสพติดและโรคเอดส์, การแข่งขันทักษะทางวิชาการวันมัธยมศึกษา, กิจกรรมทางวิชาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้, ลูกเสือต้านยาเสพติด, การแข่งขันศิลปะ ดนตรี และกีฬา, การแข่งขันกีฬา กรีฑานักเรียน นักศึกษาและประชาชนประจำปี, มาร์ชชิ่งความดีสากลพื้นฐาน 5 ประการ, การแข่งกีฬาฟุตซอลต้านยาเสพติด และค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผลการทดลองใช้รูปแบบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 5 เปรียบเทียบก่อนการทดลองและหลังการทดลองพบว่า ความพึงพอใจของนักเรียนก่อนทดลองใช้ค่าเฉลี่ย 2.91 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.40 และความพึงพอใจหลังการทดลองใช้ ค่าเฉลี่ย 3.86 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .79 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 กล่าวคือผลการดำเนินงานทั้ง 12 โครงการในโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช ด้านการป้องกัน การค้นหา การเฝ้าระวัง การบริหารจัดการ และกลยุทธ์ 4 ต้อง 2 ไม่ ทำให้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดลดลง และนักเรียนมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เกิดจากแนวความคิดของนักเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชนรอบรั้วโรงเรียนสามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้เป็นผลสำเร็จ
Article Details
Critical thinking in journals is the right of the author. The Association of Health Education, Physical Education and Recreation of Thailand is not always required, to create diversity in ideas and creativity.
ความคิด ข้อวิพากษ์ในวารสารเป้นสิทธิของผู้เขียน สมาคมสุขศึกษา พลศึกษา และสันทนาการแห่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเห็นชอบด้วยเสมอไป เพื่อให้เกิดความหลากหลายในความคิดและความสร้างสรรค์