Publication Ethics

จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ (Publication Ethics)

               จากการที่วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เป็นสื่อกลางหนึ่งในการติดต่อสื่อสารผลงานวิจัยตลอดจน ข้อค้นพบใหม่ๆ ระหว่างนักวิจัย และสังคมภายนอก ดังนั้น เพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไป อย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์นานาชาติ วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จึงได้กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ดี และจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ในวารสารวิชาการ (Publication Ethics) โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

บทบาทและหน้าที่ของกองบรรณาธิการวารสาร (duties of editors)

        กองบรรณาธิการ (Editor) คือ บุคลทั้งภายในและภายนอกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดแต่งตั้งขึ้นโดยการเสนอของบัณฑิตวิทยาลัย เพื่อดำเนินงานวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด โดยมีบทบาทและหน้าที่ดังนี้

        1. กองบรรณาธิการกำหนดแผนการจัดทำวารสาร วิธีการ แนวปฏิบัติในการรับบทความและจัดทำวารสาร ตลอดจนควบคุมดูแล กำกับดูแล พิจารณากลั่นกรอง คัดเลือกบทความที่มีความเหมาะสมในการตีพิมพ์

        2. กองบรรณาธิการวารสารมีหน้าที่ในการพิจารณารูปแบบ ความครบถ้วนสมบูรณ์และคุณภาพของบทความก่อนเริ่มกระบวนการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่รับผิดชอบ

        3. กองบรรณาธิการสรรหา คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถตรงกับสาขาของบทความ นั้นๆเพื่อประเมินคุณภาพของบทความ จากนั้นสรุปคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ ส่งให้ผู้เขียนเพื่อปรับแก้ไข และตรวจสอบความถูกต้องของบทความหลังจากปรับแก้ไขตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งก่อนตีพิมพ์และเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามการประเมินคุณภาพ วารสารวิชาการของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (ศูนย์ TCI)

        4. กองบรรณาธิการจะไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ในระหว่างช่วงเวลาการประเมินบทความและการตีพิมพ์วารสารฉบับนั้นๆ แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของผู้นิพนธ์หรือผู้ประเมินบทความ

        5. กองบรรณาธิการจะเป็นผู้ประเมินเบื้องต้นในการตัดสินใจคัดเลือกบทความเข้าสู่กระบวนการตีพิมพ์ และพิจารณาตีพิมพ์บทความที่ผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ จากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ

        6. กองบรรณาธิการจะไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่จากที่อื่นมาแล้วทั้งในรูปแบบของวารสาร หรือบทความหลังการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการฉบับเต็ม (Proceeding)

        7. กองบรรณาธิการจะไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความ ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดจนกว่าจะมีหลักฐานพิสูจน์ข้อสงสัยเหล่านั้น

        8. กองบรรณาธิการจะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินและทีมผู้บริหาร

        9. กองบรรณาธิการจะตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) ในบทความโดยใช้โปรแกรมที่น่าเชื่อถือได้ และหากมีหลักฐานหรือข้อยืนยันที่ชัดเจนว่ามีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น บรรณาธิการจะติดต่อผู้นิพนธ์หลักเพื่อขอคำชี้แจงและหากไม่มีข้อชี้แจงตามหลักทางวิชาการ บรรณาธิการจะปฏิเสธ การตีพิมพ์บทความนั้นๆ

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (duties of reviewers)

       ผู้ทรงคุณวุฒิ(Peer Review) คือ บุคลทั้งภายในและภายนอกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดแต่งตั้งขึ้น โดยการเสนอของกองบรรณาธิการ วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด โดยมีบทบาทและหน้าที่ดังนี้

       1. ผู้ประเมินบทความจะไม่เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของบทความและผู้นิพนธ์ แต่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลาของการประเมิน (Confidentiality)

        2. ผู้ประเมินบทความจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ เช่น เป็นผู้นิพนธ์ร่วมๆ หรืออื่นๆ ที่จะทำให้ผู้ประเมินไม่สามารถประเมินและให้ข้อเสนอแนะได้อย่างอิสระได้

        3. ผู้ประเมินบทความจะประเมินบทความในสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาจากเนื้อหาของบทความ และประเมินบทความโดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหา โดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ

        4. ผู้ประเมินสามารถเสนอแนะผลงานวิจัยที่สำคัญและสอดคล้องกับบทความในกรณีที่ผู้นิพนธ์ไม่ได้อ้างถึง เข้าไปในการประเมินบทความด้วย

        5. หากผู้ประเมินพบว่าบทความมีความเหมือน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานของผู้อื่น โดยมีหลักฐานชัดแจ้ง ผู้ประเมินสามารถปฏิเสธการตีพิมพ์และแจ้งแก่บรรณาธิการ

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (duties of authors)

        ผู้เขียนบทความ (Authors) คือ เจ้าของบทความที่ส่งบทความนั้นๆ เข้ามาตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด โดยมีบทบาทและหน้าที่ดังนี้

        1. การส่งบทความผู้นิพนธ์ต้องเป็นผู้รับรองผลงานว่าเป็นผลงานใหม่ ไม่เคยนำเสนอในรูปแบบ proceeding และตีพิมพ์จากที่ใดมาก่อน

        2. บทความที่ส่งตีพิมพ์ ผู้นิพนธ์จะต้องนำเสนอรายงานข้อมูลที่เป็นจริงที่เกิดจากการทำวิจัย โดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ

        3. หากมีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในผลงานของผู้นิพนธ์ จะต้องอ้างอิงผลงานของผู้นั้น และปรากฏอยู่ในรายการอ้างอิงท้ายบทความ

        4. บทความที่ส่งตีพิมพ์จะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด ในคำแนะนำของการส่งนิพนธ์ต้นฉบับของวารสาร มิฉะนั้นทางบรรณาธิการจะไม่รับพิจารณาบทความนั้นๆ

        5. บทความที่มีชื่อผู้นิพนธ์ปรากฏอยู่ จะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยจริง โดยกองบรรณาธิการจะพิจารณาความเป็นไปได้จากบทความ

        6. บทความจะต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้ ในกิตติกรรมประกาศ

        7. ผู้นิพนธ์จะต้องมีการระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (หากมี)