จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัย/บทความวิชาการ (Publication Ethics)

ในวารสารวิชาการสังคมศาสตร์เครือข่ายวิจัยประชาชื่น

        กองบรรณาธิการ วารสารวิชาการสังคมศาสตร์เครือข่ายวิจัยประชาชื่น มีการกำหนดบทบาทและหน้าที่สำหรับผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัย/บทความวิชาการออกเป็น 3 ฝ่าย กล่าวคือบรรณาธิการวารสาร (Editor) ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Reviewer) และผู้เขียนบทความ (Author) เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย ได้ทำความเข้าใจบทบาทและหน้าที่ในเชิงจริยธรรมและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด สำหรับการส่งบทความวิจัย/บทความวิชาการมาเพื่อขอพิจารณาเผยแพร่บทความในวารสารฉบับนี้  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมจริยธรรมในทางวิชาการ และเพื่อให้บทความที่เผยแพร่ในวารสารฉบับนี้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งในแง่คุณภาพทางวิชาการ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และหลักการพื้นฐานทางจริยธรรม

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการวารสาร จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้พิจารณาการกลั่นกรองคุณภาพเบื้องต้นของบทความที่ส่งเข้ามาขอรับการพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ ทั้งในแง่เนื้อหา รูปแบบ ประโยชน์และความถูกต้องทางวิชาการ โดยยึดหลักความเป็นธรรมและปราศจากอคติ
  2. บรรณาธิการวารสาร จะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการคัดเลือกบทความที่ผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพ ตามลำดับก่อนหลังในการส่งบทความฉบับสมบูรณ์ที่แก้ไขครบถ้วนถูกต้องตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค
  3. บรรณาธิการวารสาร จะพิจารณาถึง การสร้างองค์ความรู้ของบทความ ความทันสมัย ความถูกต้องทางวิชาการของบทความ และมีเนื้อหาอยู่ในขอบเขตของวารสาร รวมถึงความสอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่บทความวิจัย/บทความวิชาการของวารสารเป็นสำคัญ
  4. บรรณาธิการวารสาร มีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลของผู้เขียนบทความและผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำการประเมินบทความไว้เป็นความลับ และไม่เปิดเผยข้อมูลนั้นแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณา
  5. บรรณาธิการวารสาร จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ทางวิชาการสูงสุด โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ จากทั้งผู้เขียนและผู้ประเมินบทความ
  6. บรรณาธิการวารสาร มีหน้าที่ในการตรวจสอบบทความเพื่อป้องกันการคัดลอกวรรณกรรมหรืองานวิชาการจากผู้อื่น (Plagiarism) เพื่อป้องกันปัญหาการคัดลอกทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจจากผู้เขียน ซึ่งหากมีการตรวจพบ บรรณาธิการจะต้องขอคำชี้แจงเป็นหนังสือจากผู้เขียนเพื่อประกอบการพิจารณาบทความนั้น
  7. บรรณาธิการวารสาร จะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบบทความวิจัย/บทความวิชาการในขั้นสุดท้ายเพื่อทบทวนความสมบูรณ์ในเนื้อหาและความถูกต้องทางวิชาการก่อนทำการเผยแพร่ในวารสาร

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Duties of Authors)

  1. ผู้เขียนบทความ จะต้องทำการยืนยันรายละเอียดของบทความและรับรองว่าบทความที่ส่งในระบบของวารสารเพื่อขอรับการพิจารณาในการตีพิมพ์เผยแพร่ เป็นบทความที่ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการฉบับใดมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาในวารสารวิชาการอื่น ตลอดจนไม่เคยเผยแพร่ในแหล่งอื่นมาก่อน
  2. ผู้เขียนบทความ จะต้องเขียนบทความอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องทางจริยธรรมและทางวิชาการ โดยการรายงานผลการศึกษาและการสรุปผลการศึกษาต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ไม่ทำการตกแต่งข้อมูลหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง
  3. ผู้เขียนบทความ จะต้องทำการอ้างอิง ข้อความ/ผลงาน/ข้อสรุป ของผู้อื่น ที่ถูกนำมาใช้ในงานของตนให้ถูกต้องตามหลักการอ้างอิง และรายการอ้างอิงทั้งหมดที่ปรากฎในบทความจะต้องปรากฎในรายการอ้างอิงท้ายบทความด้วยเสมอ
  4. ในกรณีที่ผู้เขียนบทความไม่ได้เข้าถึง ข้อความ/ผลงาน/ข้อสรุป ที่มีการนำแสดงในบทความได้โดยตรง ด้วยตนเอง ผู้เขียนบทความจะต้องทำการอ้างอิงแหล่งที่มาให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่ทำการรวบรวมหรือสังเคราห์ ข้อความ/ผลงาน/ข้อสรุป นั้นขึ้นมา
  5. ผู้เขียนบทความ จะต้องแสดงชื่อของผู้ที่มีส่วนเขียนหรือจัดทำบทความวิจัย/บทความวิชาการ นั้นให้ครบถ้วนตามจริง หากบทความนั้นเป็นบทความที่มีผู้เขียนหรือมีผู้ร่วมงานหลายท่าน โดยผู้เขียนบทความที่เป็นผู้ดำเนินการส่งบทความมายังวารสาร จะต้องไม่แอบอ้างว่าเป็นบทความของตนเองเพียงผู้เดียว
  6. ผู้เขียนบทความ จะต้องทำการรับรองว่าบทความวิจัย/บทความวิชาการที่ส่งมาเพื่อขอรับพิจารณาให้เผยแพร่ในวารสารนั้น ไม่มีการปรากฎของ ตาราง ภาพประกอบ ข้อความ ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ได้ขออนุญาตในทำการเผยแพร่ซ้ำ

บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความ จะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการเก็บรักษาข้อมูลให้เป็นความลับ ของบทความที่อยู่ในแต่กระบวนการโดยเคร่งครัด และไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ของบทความที่อยู่ในกระบวนการประเมินให้แก่ผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง
  2. ผู้ประเมินบทความ จะต้องตอบรับในการเป็นผู้ประเมินเฉพาะ บทความวิจัย/บทความวิชาการที่ ตนเองมีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อสูงสุดทั้งต่อวารสารและผู้เขียนบทความ รวมถึงคุณภาพทางวิชาการที่ถูกต้อง
  3. ผู้ประเมินบทความ จะต้องตระหนักถึงประโยชน์ทางวิชาการเป็นสำคัญ และต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน หรือรับผลประโยชน์ใดที่ไม่ถูกต้องจากผู้เขียนหรือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บทความนั้นผ่านการพิจารณา
  4. ผู้ประเมินบทความ จะต้องตระหนักว่าในการตัดสินใจหรือแสดงความคิดเห็นขั้นสุดท้ายของการประเมินคุณภาพบทความจะต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องทางวิชาการตามศาสตร์นั้นๆ
  5. ผู้ประเมินบทความ จะต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบโดยทันที เมื่อตรวจพบความซ้ำซ้อน การคัดลอกการเจตนาปกปิดบิดเบือน หรือความผิดปกติอื่นใดของบทความ โดยระบุรายละเอียดให้ชัดเจนในแบบประเมินบทความที่ได้รับจากบรรณาธิการวารสาร
  6. หากผู้ประเมินบทความ พบว่าตนเองมีข้อจำกัดบางประการในการรับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ประเมินบทความวิจัย/บทความวิชาการ ตามที่ได้รับเชิญจากวารสาร จะต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบโดยเร็วเพื่อทำการพิจารณาหาผู้ประเมินท่านใหม่

บรรณาธิการ
ดร.กฤษดา เชียรวัฒนสุข

วารสารวิชาการสังคมศาสตร์เครือข่ายวิจัยประชาชื่น