การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ 8 ขั้น เรื่อง ลักษณะของครูที่ดีของ นักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะครุศาสตร์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนานวัตกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ 8 ขั้น เรื่อง ลักษณะของครูที่ดี ให้มีประสิทธิภาพ E1 / E2 เท่ากับ 80/80 2) หาค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ 8 ขั้น 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ 8 ขั้น ระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ 8 ขั้น ประชากรคือนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ชั้นปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม จำนวน 3 ห้อง 90 คน(ห้องละ 30 คน) กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม(Cluster Random Simple) เป็นห้องเรียนเพื่อจัดกลุ่มทดลอง เครื่องมือที่ใช้ได้แก่แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและแบบวัดความพึงพอใจของนักศึกษา สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความเที่ยงตรง ค่าความยาก ค่าความเชื่อมั่น ค่าอำนาจจำแนก ค่าประสิทธิภาพ ค่าดัชนีประสิทธิผลและค่า t-test(Dependent)
ผลการวิจัยพบว่า 1) กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ 8 ขั้น มีประสิทธิภาพ E1 / E2 เท่ากับ 82.82/81.08 2) ค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ 8 ขั้น เท่ากับ 0.6816 3) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4) นักศึกษามีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ 8 ขั้น อยู่ในระดับมากที่สุด