พลวัตรของรายได้ รายจ่าย เงินออมของครัวเรือนไทย ในช่วงปี 2554-2562

ผู้แต่ง

  • อธิพันธ์ วรรณสุริยะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

คำสำคัญ:

พลวัตร, รายได้, รายจ่าย, เงินออม, ครัวเรือนไทย, ภูมิภาค, เมือง-ชนบท

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของรายได้ รายจ่าย และเงินออมของครัวเรือนประเทศไทย และ 2) เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของรายได้ รายจ่าย และเงินออมของครัวเรือนประเทศไทย ระหว่างภูมิภาค และเขตที่อยู่อาศัยเมือง-ชนบท ใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในช่วงปี 2554 ถึง 2562 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และค่าอัตราการเปลี่ยนแปลง

ผลการวิจัยพบว่า ครัวเรือนไทยมีปัญหารายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.58 ในขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.36 ครัวเรือนในกรุงเทพมหานครมีรายได้มากที่สุด มีค่าเฉลี่ยของรายได้เท่ากับ 47,609 บาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของรายได้ครัวเรือนทั้งประเทศซึ่งมีค่าเท่ากับ 25,258 บาท ในส่วนของค่าใช้จ่ายอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ พบว่าทุกภูมิภาคมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14.31 โดยครัวเรือนในกรุงเทพมหานครมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 35.81 สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับ                 การอุปโภคบริโภค มีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.82 โดยครัวเรือนในกรุงเทพมหานครมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 32.89 เงินออมเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนมีค่าเท่ากับ 5,856 บาท โดยครัวเรือนในกรุงเทพมหานครมีเงินออมเฉลี่ยมากที่สุดเท่ากับ 13,988 บาท ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและชนบทยังมีความแตกต่างกันในทุกมิติทั้งรายได้ รายจ่าย และเงินออม ครัวเรือนในเขตเมืองมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าในเขตชนบทกว่า 7,000 บาท มีรายจ่ายเฉลี่ยสูงกว่าในเขตชนบทกว่า 4,000 บาท และมีเงินออมสูงกว่าในเขตชนบทกว่า 2,700 บาท อย่างไรก็ตามพบว่า ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทมีการเพิ่มขึ้นของรายได้ รายจ่าย และเงินออมมากกว่าครัวเรือนในเขตเมือง ในช่วงเวลาดังกล่าว

References

ธาราทิพย์ ตั้งกาญจนภาสน์. (2562). การออม : จุดเริ่มต้นและทางออกของ "หนี้ครัวเรือน". ค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_15Oct2019.pdf.

ปิยะชนันท์ เมตติยวงส์ (2561). โครงสร้างและปัจจัยกำหนดหนี้ครัวเรือนรายจังหวัดของประเทศไทย. วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

พรชนก เทพขาม. (2562). ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย. ค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2565, จาก https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/Inequality_3GiniCoefficient.PDF.

วิลาวัณย์ ด้วงไพร. (2558). การศึกษาภาวะหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ พนักงานธนาคารออมสิน จำกัด. การศึกษาค้นคว้าอิสระเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์. (2563). สำรวจเศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทย. ค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2565, จาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/6572.

สุนัยญา แดงเหม และ นริศรา เจริญพันธุ์. (2564). ปัจจัยที่มีผลต่อการออมของครัวเรือนไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล. วารสารประชากรศาสตร์, 37(1). 49-68.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2562). ครัวเรือนฐานราก 2562. ค้นเมื่อ 2 เมษายน 2565, จาก http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/pubs/e-book/Foundation_household_62/28/.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2561). แผนพัฒนาภาคกลางและพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564). ค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2565, จาก http://www.osmcentral-s2.moi.go.th/main/wp-content/uploads/2019/09/6.-แผนพัฒนาภาคกลางกทม.-สศช.-ปี-2561.pdf.

_______. (2563). อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำแนกตามจังหวัดและวันที่มีผลบังคับใช้ ปี พ.ศ. 2544-2563. สืบค้น 12 ตุลาคม 2565, จาก http://social.nesdc.go.th/SocialStat/StatReport_Final.aspx?reportid=3817&template=2R1C&yeartype=M&subcatid=11.

อธิพันธ์ วรรณสุริยะ และสุวิมล เฮงพัฒนา. (2562). ความสามารถในการออมของครัวเรือนไทยเปรียบเทียบระหว่างแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ. วารสารเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การจัดการ, 6(2). 1-17.

Wijaya, A., Zainurossalamia, S. Z., & Darma. D. C. (2020). Life-Cycle Hypothesis for Consumption Pattern: Example from Indonesia. International Journal of Advanced Science and Technology, 29(4), 4712-4720.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-04-27