การพัฒนารูปแบบการจัดการป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน :กรณีบ้านร่มฟ้าหลวง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
คำสำคัญ:
การจัดการทรัพยากรร่วม, พระราชบัญญัติป่าชุมชน, ม้งบทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการพัฒนารูปแบบการจัดการป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน:กรณีบ้านร่มฟ้าหลวงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดตั้งป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 และ 2) ศึกษาวิธีการจัดการป่าชุมชนบ้านร่มฟ้าหลวง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ใช้วิธีวิจัยแบบผสมโดยการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างหัวหน้าครัวเรือนสมาชิกป่าชุมชนจำนวน 35 คน และการวิจัยเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์คณะกรรมการป่าชุมชนจำนวน 7 คน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการศึกษาเอกสารและแบบสัมภาษณ์
ผลการวิจัยพบว่าพระราชบัญญัติป่าชุมชนเกิดขึ้นจากชุมชนต้องการจัดการทรัพยากรร่วมป่าชุมชนด้วยวิธีการของตนเองเพื่อให้ได้สิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่อย่างยั่งยืนและกีดกันผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าใช้ประโยชน์ การจัดตั้งป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชนเริ่มจากการรวบรวมสมาชิกป่าชุมชนเลือกตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนดำเนินการจัดทำคำขอ กฎระเบียบและแผนการจัดการป่าชุมชนโดยมีหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ให้การสนับสนุน และหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัดและระดับชาติเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ การจัดการป่าชุมชนบ้านร่มฟ้าหลวงตามแนวคิดการจัดการทรัพยากรร่วมโดยมีวิธีการจัดการตามวิถีความเชื่อของม้งที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ดังนี้ 1)คณะกรรมการป่าชุมชนเป็นผู้กำหนดขอบเขตของผู้ใช้ประโยชน์และขอบเขตของพื้นที่ 2) กฎระเบียบมีความสอดคล้องกับความเชื่อของท้องถิ่นและความสอดคล้องกับการบำรุงรักษาที่สมาชิกป่าชุมชนร่วมกันกำหนด 3) สมาชิกป่าชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการจัดการป่าชุมชน 4) การกำกับติดตามและการสอดส่องดูแลดำเนินการโดยสมาชิกป่าชุมชน 5) การกำหนดบทลงโทษจากเบาไปหาหนัก 6)การจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีการของชุมชน 7) การได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐ และ8)การเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายป่าชุมชนในพื้นที่ต่อเนื่องกัน
References
ธรรมนิตย์ สุมันตกุล. (2562). การจัดการทรัพยากรร่วม (Common-Pool Resourcers : CPRs) กับข้อเสนอของ Elinor Ostrom : การใช้และการดูแลรักษาภายใต้กฎเกณฑ์ร่วมกัน. ค้นเมื่อ 16 มีนาคม2563, จากhttp:// www.labia.or.th .
ชล บุนนาค. (2555). แนวคิดว่าด้วยการจัดการทรัพยากรร่วม : ประสบการณ์จากต่างประเทศและแนวคิดในประเทศไทย” ใน ปกป้อง จันวิทย์, บรรณาธิการ. ชุดหนังสือการสำรวจองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย. นนทบุรี : คณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป คณะสมัชชาปฏิรูป.
ชเนตตี พุ่มพฤกษ์ และ นฤมล อนุสนธิ์พัทธ์. (2563). ศักยภาพและความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารวิทยาการจัดการปริทัศน์, 22(1), 133-144.
สุจิตรา สามัคคีธรรม สมศักดิ์ สามัคคีธรรมและ สุวิมล ไชยพันธ์พงษ์. (2561). การจัดการทรัพยากรร่วม : แนวคิด ทฤษฎี และการประยุกต์ใช้. วารสารร่มพฤกษ์ มหาวิทยาลัยเกริก, 36(2), 9-32.
Liberto, E. (2019). Elinor Ostrom Method. from https://www.investopedia.com/terms/e/elinor-ostrom.asp
Ostrom, E. (2003). Governing the Commons. Cambridge: Cambridge University.