การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามความคิดเห็นของประชาชน ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา
คำสำคัญ:
การพัฒนา, ความคิดเห็น, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ตรวจสอบศักยภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยวในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา 2) ศึกษามาตรฐานของทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา 3) ศึกษาแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามความคิดเห็นของประชาชนในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นประชากรในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา จำนวน 400 คน วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบตามสะดวก (Convenience Sampling) เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า 1) ศักยภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของอำเภอพระนครศรีอยุธยามากที่สุด คือ ทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ศักยภาพอันดับที่ 1 คือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้แก่ พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วิหารพระมงคลบพิตร อันดับที่ 2 คือ วัดต่างๆ ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ วัดใหญ่ชัยมลคล วัด พนัญเชิงวรวิหาร วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร วัดไชยวัฒนาราม วัดหน้าพระเมรุ วัดพุทไธศวรรย์ เป็นต้น อันดับที่ 3 คือ พระบรมราชานุสาวรีย์ ได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชานุสาวรีย์สมเด็จ พระศรีสุริโยทัย 2) มาตรฐานของทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา พบว่าแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของอำเภอพระนครศรีอยุธยามีศักยภาพในการรองรับด้านการท่องเที่ยว ศักยภาพในการดึงดูดใจด้านการท่องเที่ยว ศักยภาพการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว เรียงตามลำดับ 3) แนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของอำเภอพระนครศรีอยุธยาตามความคิดเห็นของประชาชนในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา คือ อำเภอพระนครศรีอยุธยาควรให้ความสำคัญต่อการจัดการด้านการบริการและสาธารณูปโภคแก่นักท่องเที่ยว