การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวหมู่บ้านชุมชน (OTOP Village) หมู่บ้านหนองสรวง ตำบลกระแชง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้แต่ง

  • พัทธ์พสุตม์ สาธุนุวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • วันทนา เนาว์วัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • สมเกียรติ แดงเจริญ อาจารย์หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • เพ็ญนภา หวังที่ชอบ อาจารย์หลักสูตรบัญชีบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

คำสำคัญ:

รูปแบบ, การพัฒนา, การท่องเที่ยวชุมชน, หมู่บ้านหนองสรวง, OTOP Village

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์การวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาบริบทชุมชนและศักยภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยวหมู่บ้านหนองสรวง ตำบลกระแชง และเพื่อหารูปแบบการท่องเที่ยวหมู่บ้านหนองสรวง ตำบลกระแชงที่เหมาะสม เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการมีส่วนร่วมจากชุมชน กลุ่มตัวอย่างเป็นสมาชิกชุมชนบ้านหนองสรวง หมู่ที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 168 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสังเกต การจัดเวทีชุมชน สนทนากลุ่มย่อย และทำการสรุปผลวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา

ผลการวิจัยพบว่า 1) บริบทชุมชนและศักยภาพของชุมชน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำนา ประมงในแม่น้ำ จุดแข็งคือคงวิถีชีวิตแบบชาวบ้านริมน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นจุดเด่น เช่น กุ้งแม่น้ำ ปลาแม่น้ำ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่นการนวดแบบโบราณ การกวาดพ่นยา (หมอชาวบ้าน) ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น ทำขวัญข้าว รำกลองยาว ทำบุญประจำปีศาลพ่อปู่แสงอาทิตย์ฯ  จุดอ่อน ได้แก่ขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการท่องเที่ยว ด้านความรู้ ด้านการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน ขาดความรู้ด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก ศักยภาพสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่สำคัญคือ รูปแบบวิถีชีวิตริมน้ำและเกษตรกรรม ภูมิปัญญาของชุมชน มีการสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ เช่น สุ่ม ตะกร้า และเรือกระแชงจำลองทำเป็นของประดับ ของที่ระลึก มีอาหารและขนม พืชผักท้องถิ่นที่เป็นพื้นบ้าน เช่น ขนมตาลจากต้นตาลในชุมชน ข้าวเหนียวหน้ากุ้งแม่น้ำ ขนมนาบกระทะ 2) การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวหมู่บ้านชุมชน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 2.1) ควรมีการเตรียมการก่อนการจัดรูปแบบการท่องเที่ยวหมู่บ้านชุมชน เช่น การจัดประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน การให้ความรู้ด้านการท่องเที่ยวกับชุมชน มีการศึกษาดูงานแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตชุมชนอื่น การจัดการความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญา วิถีชีวิตในชุมชน เป็นต้น  และจัดตั้งกลุ่มการจัดการท่องเที่ยวชุมชน 2.2) รูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนมาจากพื้นฐานของศักยภาพของชุมชนในการท่องเที่ยว โดยสามารถกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวได้ 2 รูปแบบคือ การท่องเที่ยวแบบ 1 วัน (1 วันหรรษาพาชิม) และแบบ 2 วัน 1 คืน รื่นเริงกับวิถีชีวิตริมน้ำ ฟังเรื่องเล่าตำนานศาลพ่อปู่แสงอาทิตย์ การสาธิตเกษตรอินทรีย์ พักค้างคืนนอนนับดาว

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28