พฤติกรรมการบริจาคเงินเพื่อการกุศลของผู้สูงอายุ ในอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม ลักษณะจูงใจภายในของผู้สูงอายุที่บริจาคเงิน ซึ่งได้แก่ ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ความมั่นคงทางการเงิน และความเคร่งทางศาสนา (2) พฤติกรรมการบริจาคเงินให้กับวัดและมูลนิธิการกุศล (3) ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะดังกล่าวกับพฤติกรรมการบริจาคเงิน ซึ่งพิจารณาจากความถี่ในการบริจาคเงิน (โดยไม่คำนึงถึงจำนวนเงินที่บริจาค) ของผู้สูงอายุ โดยขอบเขตพื้นที่การวิจัยคืออำเภอเมืองนครสวรรค์ด้วยมีความหนาแน่นของผู้สูงอายุมากที่สุดในจังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มตัวอย่างคือผู้สูงอายุที่บริจาคเพื่อการกุศลจำนวน 390 คนจากวิธีสุ่มแบบตามสะดวก วิธีการวิจัยใช้การวิเคราะห์ด้วยสถิติพรรณนาและสถิติ เชิงอนุมานด้วยการทดสอบไคสแควร์และการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติกทวิเพื่อวิเคราะห์ลักษณะของผู้สูงอายุที่มีความสัมพันธ์และที่มีผลกับพฤติกรรมการบริจาคเงินแบบสม่ำเสมอ ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีช่วงอายุ 60-64 และประเมินตนว่าเคร่งศาสนาและมีความมั่นคงทางการเงินในระดับปานกลาง ในขณะที่ประเมินความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อในระดับมาก ตัดสินใจบริจาคเงินให้วัดมากที่สุดและรองลงมาคือมูลนิธิเพื่อการศึกษา จากการทดสอบ ไคสแควร์ ปัจจัยที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริจาคแบบสม่ำเสมอ คือ สถานภาพสมรส การศึกษา อาชีพ จำนวนคนในครอบครัวที่อยู่บ้านเดียวกันและความเคร่งศาสนา เหตุจูงใจสำคัญ 3 ประการต่อการบริจาค ได้แก่ การเป็นเหตุการณ์สำคัญ ความสุขใจจากการให้แม้ไม่มีใครรู้ และความเชื่อในอานิสงส์บุญจากการให้
ผลการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติกทวิชี้ว่า ปัจจัยที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการบริจาคเงินแบบสม่ำเสมอของผู้สูงอายุ ได้แก่ ระดับความเคร่งศาสนา อาชีพก่อนอายุครบ 60 ปี และระดับการศึกษา ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ประเมินว่าตนมีความเคร่งทางศาสนาในระดับปานกลางและในระดับมากมีโอกาสที่จะบริจาคเงินสม่ำเสมอ ในขณะที่ผู้สูงอายุที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าจะมีโอกาสเป็นผู้บริจาคเงินสม่ำเสมอมากกว่าผู้สูงอายุที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทหรือสูงกว่าปริญญาโท