การยอมรับธนาคารบนสมาร์ทโฟน (Mobile banking) ของผู้ค้าปลีกในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

ผู้แต่ง

  • วิไลลักษณา สร้อยคีรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
  • วราวุธ วัชรสรณ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

คำสำคัญ:

การยอมรับเทคโนโลยี, การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์, ธนาคารบนสมาร์ทโฟน, ผู้ค้าปลีก

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัยการรับรู้และการยอมรับธนาคารบนสมาร์ทโฟน (Mobile banking) ที่มีผลต่อการนำไปใช้ของผู้ค้าปลีกในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ค้าปลีกในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์จำนวน 230 ราย ด้วยแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย
เลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยสถิติไคสแควร์ การวิเคราะห์ One way ANOVA และ
การวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุด้วยการวิเคราะห์สมการเชิงโครงสร้าง 

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 30-39 ปี การศึกษาระดับ
ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบกิจการร้านอาหาร/ขนม ตั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์ ข้อมูลด้านพฤติกรรมการใช้งานพบว่าส่วนใหญ่เลือกใช้มากกว่า 1 แอปพลิเคชัน โดยเป็นการตัดสินใจใช้งานทันทีที่มีการเปิดให้ใช้แอปพลิเคชัน มีความถี่ในการใช้งานน้อยกว่าเดือนละ 30 ครั้ง ผลการศึกษาตัวแบบสมการความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างพบว่าความง่ายใน
การใช้งาน การรับรู้ถึงประโยชน์ และการยอมรับมีอิทธิพลเชิงบวกต่อการนำไปใช้งานจริง ส่วนความเชื่อมั่นในการใช้งานกลับมีอิทธิพลเชิงลบต่อการนำไปใช้งานจริง ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ผู้แทนกรมสรรพากรที่พบว่าผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่เกรงว่าการโอนเงินผ่านบัญชีจะเป็นช่องทางในการตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษีและนำไปสู่การจับปรับของสรรพากร ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ต่อการยอมรับ Mobile banking พบว่า อายุ20-49 ปี และการศึกษาสูงกว่าระดับชั้นมัธยมต้นมีการรับรู้ถึงประโยชน์ ความง่ายในการใช้งาน และการนำไปใช้จริงมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ประเภทและที่ตั้งของกิจการไม่ส่งผลต่อการยอมรับ Mobile banking ดังนั้นการวางแผน                      เชิงนโยบายควรให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจกับผู้ค้าปลีกตามระดับอายุและการศึกษาเป็นลำดับต้น ๆ โดยเฉพาะอายุ 50 ปีขึ้นไปและการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้นมัธยมต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการใช้แอปพลิเคชันว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการและไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกับการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้หลีกเลี่ยงภาษีหรืออยู่นอกระบบภาษีของสรรพากร

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27