การศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในการใช้บริการระบบการขนส่ง เรือโดยสารข้ามฟากรอบเกาะเมืองโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
คำสำคัญ:
ผู้ให้บริการ, สภาพปัญหา, ความต้องการ, ผู้ใช้บริการเรือโดยสาร, ชั่วโมงเร่งด่วน, ระบบขนส่งเรือโดยสาร, ระบบบริการขนส่งทางน้ำบทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ (1) เพื่อศึกษาปัญหาของประชาชนในการใช้บริการระบบการขนส่งเรือโดยสารข้ามฟากรอบเกาะเมืองโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและ (2) เพื่อศึกษาความต้องการพัฒนาของผู้ใช้บริการระบบการขนส่งเรือโดยสารข้ามฟากรอบเกาะเมืองโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน จำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถามแบบปลายเปิด ด้วยวิธีส่งแบบสอบถามแบบ Research Survey แล้วส่งกลับคืนมายังคณะผู้ศึกษา
ผลวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็น เพศหญิง 203 คน และมีอายุช่วงระหว่าง 15-29 ปี จำนวน 208 คน ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี รายได้ประจำน้อยกว่า 15,000 บาท อาชีพของประชาชนที่ใช้บริการ ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนและลูกจ้าง จำนวน 161 คน มีสถานภาพโสด 239 คน ผู้โดยสารส่วนใหญ่เลือกใช้บริการเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง มีจำนวน 385 คน มีความถี่ในการใช้บริการส่วนใหญ่อยู่ที่ 6 วัน/สัปดาห์ เหตุผลที่เลือกการเดินทางโดยใช้บริการระบบการขนส่งเรือโดยสารข้ามฟาก พบว่าส่วนใหญ่คิดว่าเหมาะสมกับการเดินทางของผู้ใช้บริการโดยเฉพาะ ปัญหาที่ประชาชนคิดว่าควรมีการแก้ไขระบบการขนส่งเรือโดยสารข้ามฟากรอบเกาะเมืองโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้ง 5 ด้าน คือ 1) ด้านสภาพเรือโดยสาร และที่นั่ง 2) ด้านการให้บริการและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการ 3) ด้านปัญหาด้านอัตราค่าโดยสาร 4) ด้านปัญหาในด้านท่าเทียบเรือโดยสารที่ให้บริการ และ 5) ปัญหาที่พบเจอและความต้องการพัฒนาของผู้ใช้บริการเรือโดยสารข้ามฟาก อยู่ในระดับเห็นด้วย ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ปัญหาและความต้องการของผู้ใช้บริการระบบการขนส่งเรือโดยสารรอบเกาะเมืองโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีผลต่อความปลอดภัยในการเดินเรือโดยสารข้ามฟาก ดังนั้นผู้ให้บริการเรือโดยสารข้ามฟาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการปรับปรุงการให้บริการในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจในการบริการและกลับมาใช้บริการได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้เองด้วยต้นทุนที่มีมากในการที่จะปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือการอำนวยความสะดวกสบายให้มีมากยิ่งขึ้น ย่อมส่งผลต่อผลกำไรที่จะได้รับ เนื่องจากอัตราการให้บริการเรือโดยสารข้ามฟาก อยู่ในระดับที่ไม่สูง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะรองรับกับผู้โดยสารที่มีรายได้น้อย
จากผลวิจัยในครั้งนี้ ควรนำข้อมูลทั้งหมด ไปปรับปรุงและพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้งระบบ กำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องควรจะนำการศึกษานี้ ไปแก้ไขปรับปรุงระบบการขนส่งสาธารณะทางน้ำอย่างถูกวิธี ยกระดับการบริการลูกค้า และในส่วนของผู้ประกอบการ สามารถนำไปปรับปรุงนโยบายการบริหารงาน และการให้บริการการเดินเรือให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยลดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และช่วยเป็นข้อมูลในศึกษาวิจัยในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อดูภาพโดยรวมของระบบขนส่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแก้ไขปัญหาที่พบเจอได้อย่างแท้จริงต่อไป