ศักยภาพการท่องเที่ยวและแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ในจังหวัดลพบุรี ประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • วีรพล น้อยคล้าย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • พยอม ธรรมบุตร สาขาการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยพะเยา
  • สหนนท์ ตั้งเบญจสิริกุล สาขาการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยพะเยา
  • สันติธร ภูริภักดี

คำสำคัญ:

ศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยว, การท่องเที่ยวแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน, จังหวัดลพบุรี

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาศักยภาพการท่องเที่ยวของจังหวัดลพบุรี ประเทศไทย 2) เพื่อสร้างแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนของจังหวัดลพบุรี ประเทศไทย ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบรายการศึกษาชุมชน แบบตรวจสอบทรัพยากรทางการท่องเที่ยว แบบสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่มย่อย ซึ่งมีผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน 32 คน จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักท่องเที่ยวชาวไทย

            ผลการวิจัยพบว่าศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดลพบุรีมีดังนี้ 1) ทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่น  ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา น้ำตกวังก้านเหลือง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทรัพยากรวัฒนธรรมที่ ได้แก่ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระปรางค์สามยอด ศาลพระกาฬ กลุ่มชาติพันธุ์ ทรัพยากรมหกรรม ได้แก่ งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช งานเลี้ยงโต๊ะจีนลิง เทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี ทรัพยากรกิจกรรม ได้แก่ แต่งกายชุดไทยเที่ยวพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไหว้พระ และทรัพยากรบริการ ได้แก่ ธุรกิจที่พักแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก สำหรับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของจังหวัดลพบุรี จุดแข็ง คือ มีทำเลที่ตั้งเหมาะสม มีระบบการขนส่งเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวในประเทศและอาเซียน มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่โดดเด่น เป็นเมืองแห่งอารยธรรม ศิลปกรรม 4 สมัย มีชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จุดอ่อน คือ ขาดแผนยุทธศาสตร์คณะกรรมการ และการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โอกาส คือ จังหวัดลพบุรีสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตรปลอดสารพิษ รวมทั้งการท่องเที่ยววิถีพุทธที่น่าสนใจในระดับสากล อุปสรรค คือ การแข่งขันทางด้านการท่องเที่ยวสูง ภาวะทางเศรษฐกิจโลกถดถอย ขาดการสร้างเครือข่ายดิจิทัลในการประชาสัมพันธ์จังหวัด 2) ผู้วิจัยขอนำเสนอแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนของจังหวัดลพบุรี ประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากการสังเคราะห์ TOWS Matrix ประกอบด้วยกลยุทธ์เชิงรุก กลยุทธ์เชิงพลิกฟื้น กลยุทธ์รักษาเสถียรภาพ และกลยุทธ์การเตรียมพร้อม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-29