แนวทางการจัดการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดของข้าวหอมมะลิในจังหวัดศรีสะเกษ

ผู้แต่ง

  • ศิริกมล ประภาสพงษ์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

คำสำคัญ:

การจัดการลดต้นทุน, การเพิ่มผลผลิต, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการผลิตข้าว

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาในการผลิตข้าวของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเขตพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ 2) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การลดต้นทุนและการเพิ่มผลการผลิต ปัญหาและอุปสรรค ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการจัดการคุณภาพข้าวหอมมะลิในจังหวัดศรีสะเกษ 3) เพื่อวิเคราะห์วิถีการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และบทบาทของตลาดในการกำหนดคุณภาพของข้าวหอมมะลิในจังหวัดศรีสะเกษ และ 4) เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อ     เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดของข้าวหอมมะลิตามความเหมาะสมของพื้นที่ในจังหวัดศรีสะเกษ การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบผสานวิธีดำเนินการวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิจัย เชิงปฏิบัติการ โดยมีแนวคิดการลดต้นทุน คือ การเพิ่มผลิตภาพมาใช้เพื่อผลิตสินค้าหรือบริการโดยใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนการนำแนวคิดการประยุกต์ใช้สารสนเทศประเภทโซเชียลมีเดียประเภท Facebook มาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informant) จำนวน 50 คน กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 329 คน และกลุ่มผู้ที่รับการอบรมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัยประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และแบบการประเมินผลการอบรม การวิเคราะห์ใช้สถิติเชิงปริมาณ ทั้งค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ปัจจัย และทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สถิติและคณิตศาสตร์ และสนทนากลุ่มย่อยจากกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 15 คน นำข้อมูลที่ได้มาสังเคราะห์และวิเคราะห์เพื่อนำเสนอข้อมูลแบบพรรณนาความ

  ผลการวิจัยพบว่า

1) เกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษที่เป็นผู้ผลิตข้าวมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ จึงรวมกลุ่มให้เกิดกิจกรรมด้านการสร้างแหล่งทุนชุมชน เพื่อขยายพันธุ์ข้าวและผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและกำหนดราคาได้เอง แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาต่างๆ ประกอบด้วย(1) ปัญหาการขยายตลาดการส่งออกในระดับประเทศและต่างประเทศ (2) ปัญหาการพัฒนาพื้นที่นาข้าวและผลผลิตให้ได้รับเครื่องหมายบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) (3) ปัญหาระบบการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด (4) ปัญหาโรงเรือนกักเก็บข้าวไม่เพียงพอ (5) ปัญหาการขาดความรู้ทางด้านบัญชี  (6) ปัญหาการขาดความรู้เรื่องการแปรรูป (7) ปัญหาองค์ความรู้ด้านการลดต้นทุนการผลิต  (8) ปัญหาการขาดความรู้ด้านการจัดการช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (9) ปัญหาด้านทัศนะคติและพฤติกรรมของเกษตรกรผู้ผลิตข้าว (10) ปัญหาเรื่องเงินทุน (11) ปัญหาด้านการส่งเสริมการตลาดจากจากหน่วยงานรัฐ ไม่สอดคล้องกับช่องทางการจำหน่าย และ (12) ปัญหาการขาดเครื่องจักรในการแปรรูปข้าวหอมมะลิ

2) ปัจจุบันเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิในจังหวัดศรีสะเกษ มีต้นทุนค่าแรงงานในการผลิตข้าวทุกกระบวนการ ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายที่สร้างภาระให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมากที่สุด คือ ภาระการกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนในการผลิตข้าว  และต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้จากแหล่งกู้ยืมมากกว่า 1 แหล่ง ในขณะที่เมื่อคำนวณจุดคุ้มทุนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์พบว่า  เกษตรกรมีต้นทุนการผลิต  5,856.14 บาท / ไร่ สามารถขายผลผลิตทางเกษตรเฉลี่ยเท่ากับ 19.04 บาท/กิโลกรัม  มีปริมาณผลผลิตทางเกษตรเท่ากับ 416.45 กิโลกรัม/ไร่ รายได้จากการขายผลผลผลิต 7,929.20 บาท / ไร่ กำไรสุทธิ 825.86 บาทต่อไร่ โดยปริมาณการผลิตเฉลี่ยต่อไร่คุ้มทุนเท่ากับ 12.08 กิโลกรัม/ไร่ ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยต้นทุน 14.06 บาท/กิโลกรัม และในส่วนของปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณของผลผลิตข้าวของเกษตรมี 6 ตัวแปร ได้แก่ จำนวนครัวเรือนที่มีสมาชิกเป็นเกษตร  ประสบการณ์ทำการเกษตร การจ้างแรงงานในการทำนา                 การทดสอบเมล็ดพันธุ์ข้าว อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่ และวิธีการปลูกข้าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยเมื่อพิจารณาตัวแปรอิสระที่มีอำนาจในการทำนายการเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตข้าวได้ดีที่สุด คือ ประสบการณ์ทำการเกษตร 

3) วิถีการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และมาตรฐานของข้าวหอมมะลิในจังหวัด ศรีสะเกษ ประกอบด้วย (1) การส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกข้าว  (2) การส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (3) การเพิ่มผลผลิตในการจำหน่ายของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (4) การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและสร้างสรรค์  (5) การสร้างสรรค์ภาพลักษณ์และเอกลักษณ์การผลิตของกลุ่มฯ  (6) การสร้างเครือข่ายการผลิตข้าวอินทรีย์  (7) การจัดทำบัญชีการผลิตข้าว

4) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การสร้างเพจผ่าน Facebook เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดของข้าวหอมมะลิตามความเหมาะสมของพื้นที่ในจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า (1) ผลรวมระดับความรู้ความเข้าใจก่อนเข้าร่วมอบรมและปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศฯ มีความรู้ความเข้าใจอยู่ในระดับน้อย (2) ผลรวมของความ พึงพอใจด้านวิทยากรและสื่อการอบรมอยู่ในระดับมาก และ (3) ผลรวมความพึงพอใจในด้านความรู้ความเข้าใจหลังการอบรมฯ อยู่ในระดับปานกลาง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-30