แนวทางการพัฒนาบทบาทผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารโรงเรียน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
คำสำคัญ:
แนวทางการพัฒนา, บทบาทผู้นำทางวิชาการบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบทบาทผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 2) ศึกษาแนวทางการพัฒนาบทบาทผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ โดยแบบสอบถามเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ข้าราชการครูโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 181 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แบบสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวน 5 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง
ผลการศึกษาพบว่า บทบาทผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ บทบาทการตั้งความคาดหวังสูง บทบาทการพัฒนาวิชาชีพครู บทบาทการสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศที่นำไปสู่การเรียนรู้ บทบาทการประเมินผลการทำงานของครู บทบาทการบริหารจัดการหลักสูตร บทบาทการสร้างทีมงาน และบทบาทการมีวิสัยทัศน์ ผลการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์พบว่า แนวทางการพัฒนาบทบาทผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ข้อเสนอแนะดังนี้ 1) บทบาทการประเมินผลการทำงานของครู ผู้บริหารต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถรอบด้านเพื่อให้คำปรึกษาแก่ครูได้ในทุกเรื่อง 2) บทบาทการสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศที่นำไปสู่การเรียนรู้ ผู้บริหารควรจัดแหล่งเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก 3) บทบาทการบริหารจัดการหลักสูตร ผู้บริหารควรจัดประชุมเพื่อให้ครูเข้าใจหลักสูตรก่อนนำไปใช้จริง 4) บทบาทการตั้งความคาดหวังสูง ผู้บริหารควรให้ความสำคัญ เห็นคุณค่า และให้กำลังใจครูในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการสู่สาธารณชน 5) บทบาทการพัฒนาวิชาชีพครู ผู้บริหารควรมีการนิเทศการสอน รวมถึงสอบถามความต้องการพัฒนาของครูเพื่อให้ครูได้พัฒนาการสอนตรงกับจุดเด่นจุดด้อยของตนเอง 6) บทบาทการมีวิสัยทัศน์ ควรกำหนดนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง และ 7) บทบาทการสร้างทีมงาน ผู้บริหารควรจัดบรรยากาศในการทำงานให้น่าอยู่และน่าทำงาน ซึ่งผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารในการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาบทบาทผู้นำทางวิชาการของตนเองต่อไป