ศักยภาพและความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
คำสำคัญ:
ศักยภาพและความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน, วิสาหกิจชุมชน, การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนบทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง ศักยภาพและความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อศึกษาศักยภาพและความเข้มแข็งในการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเปรียบเทียบการดำเนินงานระหว่างวิสาหกิจชุมชนในลักษณะเชิงวัฒนธรรมและสังคมท้องถิ่นกับวิสาหกิจชุมชนที่มีมุ่งแสวงหาผลกำไรและส่งเสริมอาชีพแก่กลุ่มสมาชิกในชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้ระเบียบวิธีวิจัยที่เริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดขั้นตอนการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multistage Sampling) ในการสุ่มตัวอย่าง ตั้งแต่สุ่มวิสาหกิจชุมชนระดับอำเภอ สุ่มตัวอย่างวิสาหกิจชุมชนระดับตำบล ในกระบวนการแรกนี้ผู้วิจัยทำการสุ่มตัวอย่างเพื่อเลือกอำเภอ วิธีวิทยาการวิจัยในรูปแบบการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ( Purposive sampling ) ซึ่งเป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยพิจารณาจากการตัดสินใจของผู้วิจัยที่มุ่งเน้นไปที่ลักษณะของกลุ่มที่เลือกเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ การวิจัย ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลโดยการสังเกตการณ์กระบวนการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชน ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วม และเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกประธานวิสาหกิจชุมชน และสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนที่สุ่มมาด้วยวิธีการสุ่มโดยบังเอิญ (Accidental Sampling) เพิ่มอีกวิสาหกิจชุมชนละ 10 คน รวมจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมการให้สัมภาษณ์ 160 คน สำหรับคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน ผู้นำวิสาหกิจชุมชนเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยวิธีการอภิปรายกลุ่ม (Focus Group) เป็นการนำเสนอผลการประเมินความเข้มแข็งและศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 2 รูปแบบ อันได้แก่ วิสาหกิจชุมชนที่มีการดำเนินกิจกรรมในลักษณะเชิงวัฒนธรรมและสังคมท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชนในลักษณะเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการชุมชน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนทั้งสองประเภทอย่างชัดเจน จากการที่วิสาหกิจชุมชนทั้งสองประเภทได้รับการยอมรับโดยกลุ่มสมาชิกในชุมชน มีสัญญาณในการแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยทุนทางสังคมผนวกกับการใช้ทรัพยากรพื้นฐานจากในชุมชน