ความสมดุลของชีวิตการทำงานและครอบครัว ของบุคลากรสายวิชาการมหาวิทยาลัยรามคำแหง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

Main Article Content

Kitti Chunhasriwong

บทคัดย่อ

บทความนี้ มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาระดับความสมดุลของชีวิตการทำงานและครอบครัวของบุคลากรสายวิชาการ (สาย ก) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ (2) เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาความสมดุลของชีวิตการทำงานและครอบครัวของบุคลากรสายวิชาการ (สาย ก) มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นการวิจัยแบบบรรยาย ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ และการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ และแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง


ผลการวิจัย พบว่า ระดับความสมดุลของชีวิตการทำงานและครอบครัว ของบุคลากรสายวิชาการ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อยู่ในระดับปานกลาง โดยองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ความยืดหยุ่นในการทำงาน ส่วนองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ การสนับสนุนด้านการเงินแก่พนักงาน และผลจากการสัมภาษณ์ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ 7 ท่าน ได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องของความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งมีข้อคิดเห็นในกรณีนี้ว่า บุคลากรสายวิชาการ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ส่วนใหญ่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในวันหยุดเป็นประจำ เกิดจากภาระงานสอนทั้งในภาคปกติ และโครงการพิเศษต่างๆ ของแต่ละคณะ โดยการแก้ไขปัญหาจะสามารถทำได้โดยการวางแผนอัตรากำลังของบุคลากรในคณะ เพื่อดำเนินการขออัตรากำลังตามที่เหมาะสม รวมถึงการจัดตารางการเรียนการสอนล่วงหน้า และการให้อาจารย์ผู้สอน ได้มีส่วนร่วมในการจัดตารางสอน และในการเปิดโอกาสให้สามารถปฏิบัติงานที่บ้าน หรือภายนอกสำนักงานนั้น มีความเห็นว่าไม่สมควร เนื่องจากระเบียบการปฏิบัติงานราชการ ส่วนในด้านการสนับสนุนด้านการเงินแก่พนักงาน จากการสัมภาษณ์มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในกรณีนี้ว่า สวัสดิการในด้านการเงินที่เหมาะสมนั้น มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้กำหนดนโยบายไว้ แต่เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ทำให้ขาดการรับรู้ และในส่วนของการได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนจากหน่วยงานที่ไม่คุ้มค่า เหมาะสมกับ ปริมาณงาน หน้าที่ ความรับผิดชอบ สามารถนำวิธีการให้น้ำหนักของงานต่างๆ ตามความเหมาะสม (job weight) รวมถึงการนำวิธีการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพงาน มาใช้อย่างจริงจัง


 


คำสำคัญ: ความสมดุลของชีวิตการทำงาน, ความยืดหยุ่นในการทำงาน, การสนับสนุนด้านการเงินแก่พนักงาน

Article Details

บท
บทความวิจัย