กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชน ศีล 5 ต้นแบบ ในจังหวัดนครราชสีมา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการพัฒนาเยาวชนรักษาศีล 5 ต้นแบบ จังหวัดนครราชสีมา 2) ศึกษากลไกการพัฒนาเยาวชนรักษาศีล 5 ต้นแบบ จังหวัดนครราชสีมา 3) นำเสนอกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนรักษาศีล 5 ต้นแบบ จังหวัดนครราชสีมา ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสมผสานวิธีด้วยการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 388 คน การวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ จำนวน 25 คน ผู้ให้ข้อมูลจากการสนทนากลุ่มเฉพาะ จำนวน 10 รูป/คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม แบบสุมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ สถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเอกสาร การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอรรถาธิบายและพรรณนาความ
ผลการวิจัยพบว่า
- การพัฒนาเยาวชนรักษาศีล 5 ต้นแบบ จังหวัดนครราชสีมา มีองค์ประกอบ ดังนี้ Input ได้แก่ 1) ด้านความรู้ มีการให้ความรู้เยาวชนในเรื่อง กฎแห่งกรรม พระพุทธศาสนากับการแก้ไขปัญหาสังคม หลักปฏิบัติศีล 5 2) ด้านพฤติกรรม ได้มีกิจกรรมการอบรมเยาวชนเพื่อส่งเสริมด้านพฤติกรรมเพื่อให้เยาวชนมีพฤติกรรมที่ดี 3) ด้านทัศนคติ เยาวชนที่มีต่อการเข้ารับการอบรม มีทัศนคติที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว Process ขั้นที่ 1 ขั้นรับมอบตัวเด็กและเยาวชน โดยการลงทะเบียนรับรายงานตัวเข้ารับการอบรม ขั้นที่ 2 ดำเนินการฝึกอบรม การปฐมนิเทศ ขั้นที่ 3 ขั้นประเมินผลการอบรม ทำแบบประเมิน โดยการแจกแบบสอบถาม Output 1) ด้านความรู้ เยาวชนได้ความรู้เรื่องกฎแห่งกรรม ทุกคนมีกรรมเป็นของตน 2) ด้านพฤติกรรม เยาวชนมีความกลัวต่อการทำความชั่วมากขึ้นทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้เรื่องทักษะของชีวิตที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน 3) ด้านทัศนคติเยาวชนเห็นสภาพความเป็นจริงของสังคมมากขึ้น ทำให้เยาวชนไม่เกิดความเพ้อฝันหรือการสร้างจินตนาการเพื่อสร้างพฤติกรรมให้เยาวชนประพฤติไปในทางที่ไม่ดี
- กลไกการพัฒนาเยาวชนรักษาศีล 5 ต้นแบบ จังหวัดนครราชสีมา 1) กลไกศูนย์อบรม ศูนย์อบรมดำเนินการจัดอบรมให้บริการแก่เยาวชน ประชาชน หน่วยงาน สถานศึกษา ส่งเสริมการอบรมคุณธรรมจริยธรรม 2) กลไกเชิงกระบวนการ ขั้นเตรียมการอบรม การอบรมคุณธรรมจริยธรรม ขั้นดำเนินการอบรม การแนะนำหลักธรรมเพื่อมาผสานกับการดำเนิน ขั้นการประเมินผล ดำเนินการโดยใช้แบบสอบถาม 3) กลไกเครือข่าย ได้ดำเนินการการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนศีล 5 ต้นแบบกับเครือข่ายสถานศึกษา เครือข่ายชุมชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาครัฐ เครือข่ายพระวิทยากร เครือข่ายคณะสงฆ์
- กลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนรักษาศีล 5 ต้นแบบ ตามหลัก 7’S เพื่อให้เกิดกลยุทธ์ในการนำมาใช้ในการอบรมเยาวชนให้ประสบความสำเร็จและผลสัมฤทธิ์ ได้แก่ S1 = โครงสร้าง (Structure) S2 = กลยุทธ์ (Strategy) S3 = ระบบต่าง ๆ (System) S4 = รูปแบบการบริหาร (Style) S5 = พนักงานทั้งหมด (Staff) S6 = ทักษะฝีมือ (Skills) S7 = จิตสำนึกร่วม (Shared values)
Article Details
ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความในวารสาร ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความนั้น และไม่ถือเป็นทัศนะและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ ยินยอมว่าบทความเป็นลิขสิทธิ์ของวารสาร