รูปแบบการดำเนินชีวิตและการปรับตัวของข้าราชการครูหลังเกษียณในสังกัดกลุ่มโรงเรียนมาลัยแมน จังหวัดนครปฐม
คำสำคัญ:
ข้าราชการครูหลังเกษียณ, รูปแบบการดำเนินชีวิต, การปรับตัวบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินชีวิตของข้าราชการครูหลังเกษียณในสังกัดกลุ่มโรงเรียนมาลัยแมน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ในด้านกิจกรรม ความคิดเห็นและความสนใจ และศึกษาการปรับตัวด้านร่างกาย จิตใจและสังคม โดยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักที่เป็นข้าราชการครูที่เกษียณอายุในกลุ่มโรงเรียนปฐมนครที่มีศักยภาพในการฟัง การสนทนาตอบโต้ข้อมูลและเต็มใจในการให้ข้อมูลได้ แต่เนื่องจากผู้ให้ข้อมูลหลายรายหลังเกษียณอายุราชการมีการย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่กับลูกหลานนอกพื้นที่ จึงทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ให้ข้อมูลจำนวน 6 ราย หลังจากได้ข้อมูลเชิงคุณภาพแล้วผู้วิจัยได้นำมาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแบบสามเส้าด้านวิธีการ จัดหมวดหมู่ข้อมูล สรุปผลการศึกษาและนำเสนอผลการศึกษาในรูปแบบการพรรณนาความ
จากการศึกษารูปแบบการดำเนินชีวิตของข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการ พบว่า 1) ด้านกิจกรรมการดำรงชีวิตยังคงทำงานเพื่อหารายได้แม้ว่าจะได้เงินบำนาญ ใช้เวลาในการออกกำลังกาย พักผ่อน ซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและเวชภัณฑ์ยา รวมถึงทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและสังคม 2) ด้านทัศนคติและความคิดเห็นในเชิงบวกจากความภูมิใจในตนเองส่วนทัศนคติเชิงลบจากความเป็นอยู่ที่ลำบากและสภาพร่างกายที่เจ็บป่วย 3) ด้านความสนใจ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพ การเลือกรับประทานอาหาร การดูแลความสะอาดของที่พักอาศัย การประกอบอาชีพหลังเกษียณอายุและการดูแลความเป็นอยู่ของลูกหลาน ยังคงสนใจการรับข่าวสารภายนอก และเมื่อศึกษาการปรับตัวในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ พบว่า 1) ด้านสุขภาพร่างกาย ผู้สูงอายุให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปี การออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารและให้เวลาในการพักผ่อน 2) ด้านจิตใจและอารมณ์ ผู้สูงอายุยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่โรยลาและเชื่องช้าและยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงบทบาทและหน้าที่ 3) ด้านสังคม ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม การท่องเที่ยวและการสังสรรค์กับเพื่อนน้อยลง โดยเลือกเฉพาะกิจกรรมที่สำคัญจริง ๆ เพื่อเข้าร่วมเท่านั้น
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
ลิขสิทธิ์บทความเป็นของผู้เขียน แต่วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอสงวนสิทธิ์ในการเป็นผู้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก