การจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในสถานการณ์โควิด 2019: กรณีศึกษา วัดใหญ่รัตนโพธิ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

Main Article Content

นพศักดิ์ นาคเสนา
ยุทธพงษ์ ต้นประดู่
สาวิตร พงศ์วัชร์
รินทร์ลภัส ชินวุฒิกุลกาญจน์

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาประวัติของวัดใหญ่รัตนโพธิ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
และ 2) เพื่อศึกษาการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในสถานการณ์โควิด 2019 รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้แนวคิดและทฤษฎีด้านการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ การพัฒนาและการสร้างสรรค์
เป็นกรอบการวิจัย พื้นที่วิจัย คือวัดใหญ่รัตนโพธิ์ ตำบลหมอกลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ให้ข้อมูลหลัก ประกอบด้วย ผู้รู้ ผู้ปฏิบัติ ผู้มีส่วนได้-เสีย รวมทั้งสิ้น 30 คน ใช้วิธีคัดเลือกแบบเจาะจง ประกอบด้วย 1) ผู้ที่อยู่ในชุมชนที่มีความรู้จริง 2) ผู้ที่ประกอบกิจการที่มีความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวบริเวณวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 2019 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 3 ชนิด คือ 1) แบบสังเกต (แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม) 2) ประเด็นสัมภาษณ์ (แบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง)
3) ประเด็นสนทนา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ประกอบด้วย การจำแนกข้อมูลจากกลุ่มผู้รู้ กลุ่มผู้ปฏิบัติ กลุ่มผู้มีส่วนได้-เสีย วิเคราะห์ความถูกต้อง ความสมเหตุสมผล ความเชื่อมโยงตามหลักวิทยาศาสตร์ จากนั้นเขียนบรรยายเชิงพรรณนาโดยใช้ภาพประกอบและอ้างอิงการสัมภาษณ์ที่สำคัญ ผลการวิจัยพบว่า


  1. ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 พบว่า วัดใหญ่รัตนโพธิ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีอายุหลายร้อยปี (ไม่มีบันทึกเป็นอักษร) ในอดีตเป็นวัดร้างและเป็นแหล่งอารยะธรรมชุมชนโบราณก่อนที่จะก่อตั้งเมืองนครศรีธรรมราช (โมคลานตั้งก่อน นครตั้งหลัง) ได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2493 ปัจจุบันกำลังพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ เนื่องจากค้นพบวัตถุโบราณจำนวนมาก

  2. ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 พบว่า การจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในสถานการณ์โควิด 2019 ชาวชุมชนวัดใหญ่รัตนโพธิ์ใช้การประชาสัมพันธ์ลักษณะบอกต่อด้านมาตรการการป้องกันตนเองก่อนเข้าวัดเพื่อสนองนโยบายภาครัฐ โดยเป็นการช่วยเหลือกันเองภายในชุมชนเพราะรัฐบาลไม่มีกำลังในการสนับสนุนอย่างเข้มงวด ชาวชุมชนเน้นการสร้างจิตสำนึกและการให้ความร่วมมือของนักท่องเที่ยว
    เช่น การเว้นระยะห่าง กินร้อน ช้อนเดี่ยว ล้างมือและการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในพื้นที่วัดใหญ่รัตนโพธิ์

ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ กลุ่มผู้รู้ ผู้ปฏิบัติและกลุ่มผู้มีส่วนได้-เสีย มีแนวคิดร่วมกันโดยสรุปด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการปรับตัวในสถานการณ์โควิด 2019 สามารถบูรณาการด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง อีกทั้งการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างสัมพันธภาพเชิงบวกระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของโลก รวมทั้งการผลิตสินค้าที่ระลึก โดยหน่วยงานเศรษฐกิจท้องถิ่นสามารถสนับสนุนให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจระดับจุลภาคซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างยั่งยืน

Article Details

How to Cite
นาคเสนา น., ต้นประดู่ ย., พงศ์วัชร์ ส., & ชินวุฒิกุลกาญจน์ ร. (2022). การจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในสถานการณ์โควิด 2019: กรณีศึกษา วัดใหญ่รัตนโพธิ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช. วารสารนวัตกรรมการศึกษาและการวิจัย, 6(3), 683–697. https://doi.org/10.14456/jeir.2022.6
บท
บทความวิจัย

References

บุญเดิม พันรอบ. (2528). สังคมวิทยา มานุษยวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.

แปลก สนธิรักษ์. (2514).ระเบียบสังคม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

มณศ์ฑิชา โมสาลียานนท์. (2554).ร่องรอยของคติพุทธศาสนามหายานในจังหวัดนครศรีธรรมราชก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศิลปากร.

มนฤตย์พล อุรบุญนวลชาติ. (2549). การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ยุทธพงษ์ ต้นประดู่. (2562). มานิกลุ่มคนชายขอบ: การประยุกต์สู่งานแสดงเชียร์ลีดเดอร์ (รายงานวิจัย). มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ยุทธพงษ์ ต้นประดู่และนพศักดิ์ นาคเสนา. (2563). การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำเส้นบะหมี่ กรณีศึกษา หมี่แป๊ะเถว จังหวัดภูเก็ต. การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

วาสนา บุญสม. (2548). ศิลปวัฒนธรรมไทย สายใยจากอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ปิรามัม.

สาวิตร พงศ์วัชร์ และยุทธพงษ์ ต้นประดู่. (2563) การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นวิถีชุมชนคนตีเหล็ก กรณีศึกษา โรงตีเหล็กไต่สุ่นอั้น จังหวัดภูเก็ต. การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สาวิตร พงศ์วัชร์ และคณะ. (2564). การจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในวิกฤตการณ์โควิด 2019: กรณีศึกษา วัดเขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช. การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สุนทร ธานีรัตน์. (มปพ.). ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์ในสายหมอก. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2564, จาก https://www.nakhononline.com/411/

ทศพล หงส์ทอง. (16 กันยายน 2559). ทุนจีนพุ่งตรงรับเส้นทางสายไหมใหม่. โพสต์ทูเดย์, 9.

ชนะพันธ์ แก้วกล้าไชยวุฒิ. (19 กันยายน 2559). ทัวร์จีนตื่นปราบอั้งยี่วูบ 30 %. มติชน, 6.