พระสงฆ์กับการเยียวยาจิตใจ
บทคัดย่อ
การบริการสาธารณสุขยังไม่เจริญดังเช่นปัจจุบัน พระสงฆ์จึงมีบทบาทให้การช่วยเหลือเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้เจ็บป่วยด้วยยาสมุนไพรต่าง ๆ และให้กำลังใจด้วยหลักธรรมตามความเหมาะสมกับสังคมในสมัยนั้น ๆ ต่อมาการบริการด้านสาธารณสุขได้พัฒนาขึ้นตามลำดับมีสถานพยาบาลสำหรับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศทำให้สามารถดูแลสุขภาพผู้ป่วยได้มากขึ้น บทบาทพระสงฆ์กับผู้ป่วยจึงลดลง ปัจจุบันจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น สถิติผู้ป่วยจึงมาขึ้นทุกปี แต่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐส่วนมากยังอยู่ในสภาพขาดแคลน การดูแลเยียวยาผู้ป่วยจึงให้ความสำคัญทางร่างกายเป็นหลัก จึงทำให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมที่ครอบคลุมถึงทางจิตใจและสังคมเป็นเรื่องยาก โรงพยาบาลหลายแห่งจึงมีแนวคิดพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมให้ครอบคลุมถึง
กาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้พระสงฆ์เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยทางด้านจิตใจ และวิญญาณร่วมกับทางทีมแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครทั่วไป โดยเห็นว่าพระสงฆ์เป็นผู้ที่สังคมชาวพุทธให้ความเคารพนับถือ เป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้ป่วย ด้วยการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยจนสามารถยอมรับในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและอยู่กับความทุกข์ทางกายโดยไม่ทรมานจิตใจ