การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ผู้แต่ง

  • จุฑารัตน์ สวนสมุทร, ภมร ขันธะหัตถ์, ธนิศร ยืนยง นักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยปทุมธานี

คำสำคัญ:

การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล, กระบวนการบริหาร, ประสิทธิผล

บทคัดย่อ

          การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  (1) เพื่อศึกษาระดับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคุณภาพชีวิตของประชาชนในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  (2) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และ (3) เพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี วิจัยแบบผสมผสานวิธี  ประชากร คือ ประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป และมีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน เครื่องมือการวิจัย คือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความถดถอยพหุคูณ และการวิเคราะห์สหสัมพันธ์

ผลการศึกษาพบว่า

          1.ระดับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านเรียงคะแนนจากมากไปน้อยสามลำดับแรก พบว่า ด้านเปิดเผย/โปร่งใส มีระดับความคิดเห็นมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านประสิทธิภาพ และ ด้านความเสมอภาค ตามลำดับ ระดับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านเรียงคะแนนจากมากไปน้อยสามลำดับแรก พบว่า ด้านการดำเนินการ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการส่งเสริม และ ด้านการสนับสนุน ตามลำดับ และ ระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายด้านเรียงคะแนนจากมากไปน้อยสามลำดับแรก พบว่า ด้านจิตใจ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านร่างกาย และด้านสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ

          2. ผลการวิเคราะห์การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พบว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ด้านภาระรับผิดชอบ/สามารถตรวจสอบได้ ด้านเปิดเผย/โปร่งใส ด้านหลักนิติธรรมและด้านคุณธรรม/จริยธรรม และอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการดำเนินการ และด้านการประสานงานส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

          3. แนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จากการสัมภาษณ์ พบว่า 1) องค์กรมุ่งเน้นการส่งเสริมความสามารถของผู้ปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้ผลลัพธ์การทำงานมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างประโยชน์แก่ประชาชนได้ และคุ้มค่าต่องบประมาณที่ได้รับการจัดสรรและปลูกฝังให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ให้ความสำคัญกับกับการบริการที่เป็นธรรม เท่าเทียมกัน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างการตระหนักรู้ต่อการรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเอง และ 2) องค์กรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น มีการร่วมกันกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และร่วมตัดสินใจจากประชาชนในท้องถิ่น มีกระบวนการประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดการรับรู้ และมีการสื่อสารที่ดี ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน ทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสอดคล้องกับความคาดหวังของประชาชน

References

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2558). เครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก ชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (WHOQOL – BREF – THAI). สืบค้นออนไลน์. ที่มา https://www.dmh.go.th.

กานดา เต๊ะขันหมาก และคณะ. (2559). รูปแบบการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในจังหวัดลพบุรี. วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์, 5(3).

จิระประภา ปัดถา. (2559). บทบาทของเทศบาลตำบลบ้านสร้างต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในเขตเทศบาลตำบลบ้านสร้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารวิจัยราชภัฏกรุงเก่า, 3(2).

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี. (2542) .ราชกิจจานุเบกษา. พ.ศ. 2542 เล่ม 116 ตอนที่ 63 ง. หน้า 26-27.

วรานิษฐ์ ลำไย. (2557). การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการที่ดีขององค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันตก. ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาพัฒนศึกษา, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2561). แผนฯ 12 ฉบับประชาชน นวัตกรรมคือหัวใจของการพัฒนา. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2563, จาก http://planning.dld.go.th/.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ. (2556). แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2561). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ.

สุพรรณ ทัศน์และคณะ. (2551). คุณภาพชีวิตการทำงาน และความสุข. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า.

__________. (1981). Quality of Life: Problems of Assessment and Measurement. Socio-economic Studies 5. Paris: UNESCO.

องค์การบริหารส่วนตำบลตะโละหะลอ. (2561). อำนาจหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล. องค์การบริหารส่วนตำบลตะโละหะลอ จังหวัดยะลา.

Black, K. (2006). Business statistics for contemporary decision making. New York: John Wiley & Sons.

Cronbach, L. J. (1970). Essentials of Psychological Test (5th ed.). New York: Harper Collins.

Krejcie, R. V. & Morgan, D. W. (1970). Determining Sample Size for Research Activities. Educational and Psychological Measurement, 30(3), pp. 607-610.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-08-30

How to Cite