การฝึกอาชีพเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังตามกฎหมายบังคับโทษของไทย

ผู้แต่ง

  • วิจักดิ์ ปัญญานี กรมราชทัณฑ์

คำสำคัญ:

การมีส่วนร่วมของประชาชน, การแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง, กฎหมายบังคับโทษ

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาแนวคิด หลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนของคณะกรรมการราชทัณฑ์  2) ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังของประเทศไทย และต่างประเทศ 3) ศึกษาปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนของคณะกรรมการราชทัณฑ์ในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง 4) ศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับส่วนร่วมของประชาชนของคณะกรรมการราชทัณฑ์ในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง            

          ผลการศึกษาพบว่า

  1. การมีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นหลักการที่สำคัญในการสร้างประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในการปกครองของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐและทำให้รัฐมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจว่าความต้องการของประชาชนนั้นจะได้รับการตอบสนอง สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในส่วนของคณะกรรมการราชทัณฑ์นั้นมีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการฝึกอาชีพเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังตามกฎหมายบังคับโทษ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ต้องขังนั้นได้รับความเป็นธรรมและสามารถกลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ
  2. ประเทศไทยได้มีการกำหนดการแก้ไข ฟื้นฟูผู้ต้องขังเป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 โดยกำหนดให้มีการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังตามลักษณะแห่งคดีและพฤติการณ์การกระทำผิด ประเทศญี่ปุ่นมีการออกกฎหมายการแก้ไขฟื้นฟูนักโทษโดยเฉพาะ (The Offenders Rehabilitation Law 1949) โดยส่งเสริมระบบการฟื้นฟูแก้ไขพฤตินิสัย โดยเน้นหลักการพื้นฐานในวิธีการจำแนกหรือการจัดชั้นผู้ต้องขัง สาธารณรัฐสิงคโปร์ มีแนวคิดในการบริหารงานแก้ไขอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยเห็นว่าอาชญากรเป็นปัญหาทางด้านความประพฤติ อาชญากรไม่ใช่เหยื่อของสังคมหรือสภาพแวดล้อม ราชอาณาจักรสวีเดน ได้ดำเนินการโดยเห็นว่าโทษจำคุกไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการที่ปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดทุกประเภท แต่การอบรมแก้ไขผู้กระทำผิดควรดำเนินการโดยชุมชน เพื่อให้ผู้กระทำผิดเหล่านั้นสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปัจจุบันใช้กฎหมายว่าด้วยการบังคับโทษและวิธีการบังคับเพื่อความปลอดภัยที่จำกัดเสรีภาพ ค.ศ. 1976 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุด ค.ศ. 2001เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิของผู้ต้องขังไว้อย่างชัดเจน และประเทศอังกฤษมีพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 1952 (PrisonActof1952) ที่กำหนดงานราชทัณฑ์ ในการฝึกอบรมและปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนผู้ต้องขังเพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต
  3. พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 นั้นไม่ได้มีการบัญญัติหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังทั้งส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการราชทัณฑ์ คณะกรรมการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง และคณะกรรมการพักการลงโทษ นอกจากนี้การที่กฎหมายกำหนดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประจำเรือนจำนั้นยังไม่มีความสอดคล้องกับหลักการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกิจการเรือนจำ เพื่อการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังอย่างจริงจัง ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ได้กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการในสาขาอาชีพต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ด้านการศึกษา การสาธารณสุข การฝึกวิชาชีพ และดำเนินการในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ
  4. ควรเพิ่มเติมพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2560 มาตรา 8 (4) โดยเพิ่มเติม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการฝึกอาชีพ และเพิ่มเติมข้อความว่า “โดยให้มีผู้แทนซึ่งมีความชำนาญในด้านการฝึกอาชีพ” ในข้อ 15 วรรคสอง ของระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกคุมขัง การเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษเด็ดขาด การลดวันต้องโทษจำคุก และการพักการลงโทษ พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ควรกำหนดให้ผู้แทนด้านการฝึกอาชีพ เป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยพักการลงโทษประจำเรือนจำ ไว้ในข้อ 45 ของกฎกระทรวง กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 และเพิ่มเติมระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานเรือนจำและการแต่งตั้งผู้ช่วยเหลือกรมราชทัณฑ์ พ.ศ.2561 ข้อ 12 โดยเพิ่ม (4) ผู้ชำนาญงานด้านฝึกอาชีพ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-08-30

How to Cite