มาตรการทางกฎหมายในการบังคับใช้กับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด : ศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู

ผู้แต่ง

  • บัญชา วิทยาอนันต์ คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยนครราชสีมา

คำสำคัญ:

คำสำคัญ: การจัดการศึกษา เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด การแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการจัดการศึกษา การฝึกอบรมเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดของไทยและต่างประเทศ 2) ศึกษาปัญหาการจัดการศึกษา การฝึกอบรมเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด 3) ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา และรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดที่เหมาะสม

          ผลการศึกษาพบว่า

  1. ประเทศไทยได้จัดการศึกษา การฝึกอบรมของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ. 2561 และระเบียบกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนว่าด้วยหลักสูตรการฝึกอบรมเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2554 โดยกำหนดให้ศูนย์ฝึกและอบรมจะต้องจัดให้มีการศึกษาสายสามัญหรือการฝึกวิชาชีพ และการบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมและอารมณ์เด็กและเยาวชน ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐฟลอริดา ตาม The Florida Statutes 1995 จัดให้มีการสร้างแคมป์สำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด (juvenile boot camps) ที่ดำเนินการด้านศึกษาและการฝึกอบรมทางกายภาพและโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ประเทศสหราชอาณาจักรเน้นการศึกษาในระบบและการฝึกอบรมอาชีพที่ให้เด็กโดยต้องการลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ สำหรับประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมาย Juvenile Law 2003 และ The Child Welfare Law of Japan จัดการศึกษาโดยหลักสูตรแนะแนวเกี่ยวกับการดำรงชีวิต การศึกษาทางด้านอาชีพ การศึกษาวิสามัญทั่วไป และการศึกษาพิเศษ ในประเทศสิงคโปร์ จะใช้โปรแกรมการฝึกอบรมการฝึกฝนและเปลี่ยนแปลงนิสัย โดยมีการศึกษาวิชาสามัญและวิชาชีพ และการฝึกอบรมด้านศีลธรรมรวมกับกิจกรรมสันทนาการต่างๆ
  2. พระราชบัญญัติการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ. 2561 มาตรา 37 กำหนดให้สถานที่ควบคุมจัดให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในทางปฏิบัติสถานพินิจและคุ้มครองเด็กได้นำหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ถือว่ามีพฤติกรรมเบี่ยงเบน หรือมีพฤติกรรมความประพฤติผิดไปจากบรรทัดฐานของสังคมที่จะต้องได้รับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู พฤติกรรม อีกทั้งปัญหาของการจัดการศึกษาวิชาชีพ ที่ปรากฏในมาตรา 36 ของพระราชบัญญัติการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ. 2561 นั้นไม่ได้มีข้อกำหนดในพิจารณาความต้องการของตลาดแรงงาน หรือความสอดคล้องกับหลักสูตรของกรมอาชีวศึกษาส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเมื่อได้รับการปล่อยตัวและต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น สำหรับปัญหารูปแบบการจัดการศึกษาของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่อนุญาตให้ออกไปศึกษาในสถานศึกษา ประเภทไปมานอกสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนนั้นส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เด็กและเยาวชนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับนักเรียนอื่นไม่ได้ รู้สึกอับอาย กลัวเพื่อน สังคมไม่ยอมรับ เป็นต้น
  3. ข้อเสนอแนะด้านนโยบายรัฐบาลควรให้ความสำคัญของการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด โดยกำหนดนโยบายด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดให้เหมาะสำหรับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการจัดการศึกษาที่ประกอบด้วย นักวิชาการด้านการศึกษา สหวิชาชีพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก เป็นต้น  สำหรับข้อเสนอแนะด้านปฏิบัตินั้น ควรใช้กิจกรรมเป็นตัวนำในการศึกษาวิชาสามัญ  ควรแก้ไขโดยเพิ่มวรรคท้าย มาตรา 36 โดยกำหนดว่า “ทั้งนี้ หลักสูตรการฝึกอบรมเป็นไปตามโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา” อีกทั้งควรจัดให้การศึกษาของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กในลักษณะโรงเรียนประจำ (โรงเรียนกินนอน) โดยจัดหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นในสถานพินิจฯ และออกระเบียบของกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก ว่าด้วยรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้การศึกษาแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน และเพื่อให้ส่งผลต่ออัตราลดการกระทำความผิดซ้ำของเด็กและเยาวชน

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-08-30

How to Cite