สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน

วารสาร HR intelligence ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2560) ของปีที่ 12 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กระแสการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ของประเทศซึ่งมักจะเน้นการปรับเปลี่ยนในภาพใหญ่ๆในเชิงโครงสร้างเกือบทั้งสิ้นแต่ในมุมกลับกันกลับหลงลืมการขับเคลื่อนประเทศที่เริ่มจากระดับจุลภาค ซึ่งหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จได้นำไปใช้ บนความเชื่อนี้ การศึกษา วิเคราะห์ และการเสนอแง่มุมใหม่ๆใน การจัดการทุนมนุษย์ ก็ควรมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปให้ได้ผลเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืนอย่างไรก็ตาม ข้อมูลสารสารเทศ ความรู้และวิทยาการใหม่ๆล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนประเทศ HR Intelligence หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นสื่อกลางระหว่าง นักวิจัย นักปฏิบัติ นักวิชาการ และผู้มีอำนาจในสังคมที่กำลังให้ความสนใจต่อการปฏิรูปและผลักดันยุทธศาสตร์ได้นำเอาแง่มุมและผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์

HR Intelligence ฉบับนี้จะขอเริ่มต้นด้วย คอลัมน์ Human Visions ในประเด็นของ “การเลื่อนตำแหน่ง” โดยการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของวิธีการสรรหาในวิธีการต่างๆ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เมธาวุฒิ พีพรวิทูร  ส่วน HR Tip ที่มีเป็นประจำนั้น ฉบับนี้เป็นเรื่อง “การสร้างความสุขและส่งเสริมความผูกพันให้กับบุคลากร” โดยข้อเสนอของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุนิสา ช่อแก้ว นั้นองค์การต้องสร้างความสุขและความผูกพันไปพร้อมกับการสร้างความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับและให้เกียรติ หรือที่เรียกว่า EVP (Employee Value Proposition ) ได้อย่างน่าสนใจ ท่านที่สนใจแนวทางติดตามอ่านได้ในรายละเอียด

เป็นที่น่ายินดีว่าวารสารใน ครึ่งปีหลังนี้ มีผู้นำเสนอ บทความวิจัยถึง 6 เรื่องนับเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะช่วยให้เห็นแง่มุมของข้อเท็จจริงและแนวทางในการนำไปใช้ในการปฏิรูปได้หลากหลายมากขึ้น

งานวิจัยเรื่องแรกเป็นงานของ ดร.นาราเขต ยิ้มสุข ที่ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมบริโภคแบบพอเพียงของแรงงานในเจนเนอเรชั่นต่างๆใน นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ที่ผลการศึกษาพบว่า เนอเรชั้นบีมีพฤติกรรมบริโภคพอเพียงมากกว่าเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์และวายส่วนพฤติกรรมบริโภคพอเพียงเป็นอย่างไร ใครคือเจนเนอเรชั้นบีติดตามได้ในเล่มครับ

บทความชิ้นที่ 2 เรื่อง “ผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ (LO Agent)” โดย คุณพงศ์ศิริ สุขประวิทย์ ผู้ศึกษาและเสนอผลวิจัย บทบาทที่สำคัญ 4 บทบาท ได้แก่ การเป็นตัวกลางในการประสาน   การเป็นผู้กระตุ้นเร่งเร้า  บทบาทของการเป็นนักประชาสัมพันธ์ และบทบาทของการเป็นผู้อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ และยังพบ บทบาทในการสร้างเสริมการเรียนรู้ในองค์การภาครัฐ จำเป็นต้องมีบทบาทในลักษณะของการเป็นจิตอาสาและ การติดตามการดำเนินงานเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา จะด้วยเหตุผลใดนั้น หาคำตอบได้ในบทความ

บทความชิ้นที่ 3 เป็นเรื่อง สมรรถนะครูไทยในศตวรรษที่ 21 : ปรับการเรียนเปลี่ยนสมรรถนะ โดย คุณฉัตรชัย หวังมีจงมี  ที่พบปัญหาของครูในด้านการยึดติดกับรูปแบบการสอน การขาดจิตวิญาณของความเป็นครู และพบสมรรถนะอีก 7 ประการที่มีความจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ผู้สนใจอ่านผลการวิจัยในรายละเอียดในเล่มว่ามีสมรรถนะใดบ้าง

การจัดการในยุคดิจิตอล ทำให้วงการ HR ล้วนต้องปรับตัวในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ คุณยศธร ทวีผล ได้เสนอที่เสนอเป็น ลำดับที่ 4 เรื่อง การจัดการทุนมนุษย์ยุคสื่อสังคมออนไลน์ โดยสาระสำคัญให้เห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์ถูกนำมาใช้ในการจัดการ นับตั้งแต่ การสรรหาคนเก่งและพนักงานเจนวาย การสร้างความร่วมมือ การติดต่อสื่อสาร รวมถึง การสร้างแบรนด์ให้กับนายจ้าง ขณะที่ยังพบปัญหา เรื่องความสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจ ปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวและปัญหาจริยธรรม

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศจำต้องพิจารณาความท้าทายความเสี่ยงและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การวิเคราะห์โดยอาศัย หลักสถิติ และอนุกรมเวลา ตลอดจน การใช้สมการถดถอย จะทำให้ผู้ตัดสินใจมีข้อมูลที่สำคัญ บทความชิ้นที่ 5 เรื่อง การประเมินระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุของประเทศไทย โดย ดร. วิทยา ปิ่นทอง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีอาศัยหลักเศรษฐศาสตร์และการวิเคราะห์ทางสถิติ  ทำให้ทราบปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะ ความไม่พอเพียงของรายได้ที่กระทบกับระบบการออมและจะส่งผลต่อภาระการเงินการคลังที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี

ส่วนบทความสุดท้ายเป็นความพยายามสังเคราะห์ องค์ความรู้การเปลี่ยนแปลงองค์การมาใช้ในการปฏิรูปค่านิยมของสังคมไทย โดย ดร.จำเนียร จวงตระกูล ที่เสนอแบบจำลอง VAVRIEM Model ในบทความเรื่อง “ การปฏิรูปค่านิยมของสังคมไทยเพื่อนำประเทศสู่สังคมประชาธิปไตย” อะไรคือส่วนประกอบที่สำคัญของตัวแบบนี้ตืดตามรายละเอียดได้ใน HR Intelligence

 ขอขอบคุณสำหรับผู้ส่งบทความทุกท่าน และยินดีรับบทความวิจัยและบทความวิชาการด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ใหม่ๆ ในฉบับต่อๆ ไปและในโอกาสครบกำหนดของการเป็นบรรณาธิการวารสาร HR Intelligence ก็ขอขอบคุณ ทุกท่านในกองบรรณาธิการ ที่ร่วมกันพิจารณา กลั่นกรองบทความ ฝ่ายธุรการ ผู้ประสาน ผู้เขียนบทความและผู้ติดตามอ่านวารสารทุกท่านและถือโอกาสสวัสดีปีใหม่เลยนะครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาคภูมิ   ฤกขะเมธ

บรรณาธิการวารสาร

เผยแพร่แล้ว: 2019-09-02

การจัดการทุนมนุษย์ยุคสื่อสังคมออนไลน์

ยศธร ทวีพล, ศิริพร แย้มนิล, กมลพร สอนศรี, นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ

64-79