สุขภาพจิต กับ ระบบบริการปฐมภูมิ /เวชศาสตร์ครอบครัว

Main Article Content

สุพัตรา ศรีวณิชชากร

บทคัดย่อ

สุขภาพจิต เป็นประเด็นสุขภาพที่มีความสำคัญยิ่งประเด็นหนึ่งทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก


ในประเทศไทย พบว่า โรคจิตเวชและความผิดปกติของพฤติกรรมใช้สุราสารเสพติดเป็นเหตุของความสูญเสียปีสุขภาวะในประชากรไทยคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของความสูญเสียจากทุกสาเหตุ จัดเป็นสาเหตุนำอันดับที่ 5 จาก 22 กลุ่มโรค แต่เป็นสาเหตุนำอันดับหนึ่งของความสูญเสียจากความบกพร่องทางสุขภาพหรือโรค/การบาดเจ็บที่ไม่เสียชีวิต (YLDs) ในเพศชายคิดเป็นร้อยละ 23 ของ YLDs จากทุกสาเหตุ  และร้อยละ 15 ในเพศหญิง ความผิดปกติทางจิตเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียปีสุขภาวะเนื่องมาจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ ทั้งของเพศชายและหญิง ในกลุ่มอายุ 15-29 ปี และ 30-44 ปี (รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บประชากรไทย พ.ศ. 2557 )


คนไทยป่วยด้วยโรคทางจิตเวช 5 อันดับแรก คือ 1. โรคซึมเศร้า (Depression) 2. โรคจิตเภท (Schizophrenia) 3.โรควิตกกังวล (Anxiety) 4. โรคจิตเวชเนื่องมาจากสารเสพติด (Substance Induced Mental Illness) 5.โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar Disorder)


โดยทั่วไป พบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคทางจิตเวชประมาณร้อยละ 4 ของประชากร และพบว่าส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 18-25 ปี ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ในไทยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง  ในปัจจุบันประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือปัญหาด้านยาเสพติด ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสมองและทำให้เกิดอาการทางจิตได้ และเป็นไปได้ว่าในอนาคตผู้ป่วยทางจิตเวชจะเพิ่มขึ้นจากการใช้ยาเสพติด  อันเป็นประเด็นสำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย


การศึกษาโดยระบาดวิทยาปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการบริการสุขภาพจิตครบวงจร โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในปี 2556 พบว่าผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตที่สำคัญทั้ง 8 โรค/ภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ 10 ล้านคนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีผู้เข้าถึงบริการสุขภาพจิตประมาณ 8 แสนคนหรือคิดเป็นร้อยละ 8 เท่านั้น


ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ไม่เคยได้รับการตรวจวินิจฉัยทางจิตเวชมาก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 15-59 ปี (ร้อยละ 93) และ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 95) ซึ่งสะท้อนถึงประเด็นที่ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้น้อย


อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของโรคโควิด-19  ที่ส่งผลกระทบทั้งโดยตรง และโดยอ้อมต่อภาวะสุขภาพจิตของประชาชน ที่ควรมีการพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนา และการรับมือกับภาวะต่างๆ ทางด้านสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อเหตุการณ์

Article Details

How to Cite
1.
ศรีวณิชชากร ส. สุขภาพจิต กับ ระบบบริการปฐมภูมิ /เวชศาสตร์ครอบครัว . PCFM [อินเทอร์เน็ต]. 22 เมษายน 2021 [อ้างถึง 22 มกราคม 2025];4(1):4-7. available at: https://so03.tci-thaijo.org/index.php/PCFM/article/view/251344
บท
บทบรรณาธิการ