ศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมสตรีที่ปรากฏในกุณาลชาดก

Main Article Content

ขวัญตระกูล บุทธิจักร

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาโครงสร้างและเนื้อหาของกุณาลชาดก 2) เพื่อศึกษาหลักคำสอนที่ปรากฏในกุณาลชาดก 3) เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมสตรีที่ปรากฏในกุณาลชาดก โดยเป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research)


          ผลการศึกษาพบว่า 


  1. กุณาลชาดกมีโครงสร้าง 5 ประการ คือ 1) ปัจจุบันวัตถุ เนื้อเรื่องส่วนที่เป็นปัจจุบัน เหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามสงครามระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ 2) อตีตวัตถุ เนื้อเรื่องส่วนที่เป็นอดีต เรื่องราวชีวิตของนกดุเหว่า 2 ฝูง 3) คาถา บทประพันธ์ประเภทร้อยกรองพรรณนาธรรมชาติของสตรี และโทษอันเกิดจากการเกี่ยวข้องไม่ดีกับสตรีพร้อมทั้งแนะนำแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงอันตรายอันจะเกิดจากโทษที่เกี่ยวข้องไม่ดีนั้น 4) เวยยากรณะ คำอธิบายขยายความคาถาให้ละเอียดเข้าใจง่าย 5) สโมธาน บทสรุปผลการแสดงชาดกเชื่อมโยงส่วนอดีตกับปัจจุบัน ส่วนเนื้อหากล่าวถึงโทษของกามราคะ และอานิสงส์ของบรรพชาอุปสมบท พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุอานิสงส์นั้น

  2. ในกุณาลชาดกปรากฏหลักคำสอนสำคัญ 3 ประการ คือ 1) ลักษณะพฤติกรรมสตรีที่ไม่พึงประสงค์ พรรณนาถึงธรรมชาติร้าย ๆ หลายประการของสตรี พฤติกรรมของสตรีที่เป็นภรรยามักจะนำความเดือดร้อนใจมาให้สามีตั้งแต่ไม่ให้เกียรติดูหมิ่นสามี จนถึงนอกใจสามี 2) แนวทางปฏิบัติในการเกี่ยวข้องกับสตรี สำหรับคฤหัสถ์มีภรรยาต้องทำหน้าที่สามีให้ดีหมั่นดูแลภรรยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ สำหรับบรรพชิตควรเว้นห่างจากการเกี่ยวข้องกับสตรี หากต้องเกี่ยวข้องพึงสำรวมระวังอินทรีย์เจริญสติให้มาก 3) หลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายในพระพุทธศาสนา คือ การประพฤติพรหมจรรย์เว้นขาดจากการเกี่ยวข้องกับสตรีทุกรูปแบบเพื่อบรรลุคุณงามความดีอันเป็นเป้าหมาย 3 ระดับ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติทั้งในระดับรูปภพและอรูปภพ และนิพพานสมบัติ

          3. พฤติกรรมสตรีที่ปรากฏในกุณาลชาดกเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์โดยมากเป็นพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสมแก่ความเป็นสตรี การยั่วยวนผู้ชายให้เกิดความต้องการทางเพศด้วยคำพูด ท่วงท่าลีลาแห่งหญิงนานาประการ ไม่เคารพดูหมิ่นสามี ไม่ทำหน้าที่อันควรแก่ฐานะของภรรยา เสพติดอบายมุข คบชู้ประพฤตินอกใจสามี ละทิ้งสามีในยามมีภัย ป่วยไข้ หรือมีกิจธุระที่จะต้องทำ และมีพฤติกรรมเห็นแก่ได้มักมากในทรัพย์ ไม่หนักแน่นอ่อนไหวแม้ตั้งใจไว้ดีแล้วก็สามารถเปลี่ยนใจได้โดยง่าย

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2544). ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ หจก. เอมี่ เทรดดิ้ง จำกัด.

มนตรี สิระโรจนานันท์. (2556). สตรีในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2557). อรรถกถาพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.