รูปแบบการบูรณาการหลักไตรสิกขาในกิจกรรม ของชมรมพุทธศาสตร์ กรมสรรพากร

Main Article Content

สุทธิพร รัตนธร ศรัทธา

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษารูปแบบการบูรณาการหลักไตรสิกขาในกิจกรรมของชมรมพุทธศาสตร์ กรมสรรพากร 2) เพื่อประเมินผลรูปแบบการบูรณาการหลักไตรสิกขาในกิจกรรมของชมรมพุทธศาสตร์ กรมสรรพากร 3) เพื่อนำเสนอรูปแบบการบูรณาการหลักไตรสิกขาในกิจกรรมของชมรมพุทธศาสตร์ กรมสรรรพากร งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) และระเบียบวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In - depth Interview)


          ผลการวิจัยพบว่า


  1. รูปแบบการบูรณาการหลักไตรสิกขาในกิจกรรมของชมรมพุทธศาสตร์ กรมสรรพากร พบว่า รูปแบบการบูรณาการหลักไตรสิกขาใช้วิธีบูรณาการผ่านการจัดกิจกรรมการทำบุญ โดยจัดกิจกรรม 4 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมถวายภัตตาหารเช้า และตักบาตรพระสงฆ์ 2) กิจกรรมรับบริจาคช่วยเหลือพระสงฆ์ชายแดนภาคใต้ 3) กิจกรรมสวดมนต์       นั่งสมาธิ เดินจงกรม หลังพักรับประทานอาหารกลางวันทุกวัน และ 4) กิจกรรมทำบุญเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นำหลักไตรสิกขามาบูรณาการร่วมกับกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เข้าร่วม 3 ด้าน คือ ด้านร่างกาย (อธิสีลสิกขา) ด้านจิตใจ (อธิจิตตสิกขา) และด้านสติปัญญา (อธิปัญญาสิกขา)

  2. ผลการประเมินรูปแบบการบูรณาการหลักไตรสิกขาในกิจกรรมของชมรมพุทธศาสตร์ กรมสรรพากร จากข้อมูลของกลุ่มผู้ที่ให้สัมภาษณ์ ได้แก่ คณะกรรมการ คณะทำงาน ผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยกำหนดเกณฑ์ในการจำแนกแล้ววิเคราะห์ผลบนกระบวนการ SWOT Analysis พบว่า มีความพึงพอใจในรูปแบบการบูรณาการหลักไตรสิกขาผ่านการจัดกิจกรรมทั้ง 4 กิจกรรม มีจุดแข็งที่ต้องคงไว้ คือ 1) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ความเข้าใจหลักไตรสิกขาสามารถทำให้เกิดการพัฒนาชีวิตได้ครบทั้ง 4 ด้าน คือ กาย สังคม จิตใจ ปัญญา 2) การจัดตั้งชมรมและการบริหารชมรมมีขั้นตอนเป็นระบบที่ดี 3) คณะผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรให้ความสำคัญกับกิจกรรม ส่วนจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง 1) การกระชับเวลา 2) การกระจายหน้าที่ความรับผิดชอบให้คณะทำงาน 3) การประชาสัมพันธ์ และอุปสรรคที่ควรกำจัด ได้แก่ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนในวัตถุประสงค์ของชมรม และความผิดพลาดในขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม ซึ่งชมรมใช้วิธีประชุมคณะกรรมการเพื่อระดมสมองแก้ปัญหาอุปสรรคดังกล่าว โอกาสในการพัฒนารูปแบบกิจกรรมควรสร้างเครือข่ายเผยแพร่ไปยังหน่วยงานภายในกรมสรรพากรและหน่วยงานภายนอกกรมสรรพากร

  3. นำเสนอรูปแบบการบูรณาการหลักไตรสิกขาในกิจกรรมของชมรมพุทธศาสตร์ กรมสรรพากร ได้แก่ 1) การพัฒนาตน นำหลักไตรสิกขามาใช้เพื่อพัฒนาตนใน 3 มิติ คือ (1) พัฒนาด้านกาย (2) พัฒนาด้านจิตใจ (3) พัฒนาด้านสติปัญญา 2) การเผยแผ่เชิงรุก ใช้การเผยแผ่เชิงรุกเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหลักไตรสิกขา 3) การสร้างสังคมเข็มแข็ง นำหลักไตรสิกขามาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสังคม โดยต้องเริ่มจากการพัฒนาตน เมื่อพัฒนาตนแล้ว สังคมก็ย่อมเกิดการพัฒนาด้วย

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2541). การพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิพุทธธรรม.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2549). สุขภาวะองค์รวม (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2557). พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย (พิมพ์ครั้งที่ 32). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระไพศาล วิสาโล. (2546). พุทธศาสนาในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิสดสีสฤษดิ์วงศ์.

พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ วันจันทร์). (2557). ไตรสิกขา : ในฐานะวิธีการพัฒนาชีวิตเชิงบูรณาการ” พุทธบูรณาการเพื่อการ พัฒนาจิตใจและสังคม รวบรวมโดยคณะกรรมการฝ่ายวิชาการงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2561). สรุปสาระสำคัญ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560–2564). เรียกใช้เมื่อ 5 สิงหาคม 2561 จาก https://www.nesdb.go.th/download/plan12/สรุปสาระสำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังแห่งชาติฉบับที่12.pdf

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2561). ประชากรจำแนกตามศาสนา หมวดอายุ เพศ และเขตการปกครอง สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2543. เรียกใช้เมื่อ 10 ตุลาคม 2561 จาก https://service.nso.go.th/nso/nsopublish/census/pophouse-q4.html

สุเทพ พงษ์พิทักษ์. (2553). ประมวลรัษฎากร พ.ศ.2553. กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ป.